เมื่อเร็วๆนี้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้แก่ รองอธิบดีและผู้อำนวยการหน่วยงานด้านจัดทำแผนของทุกกรมกองและสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ร่วมประชุม “สธ.-สช. ใบไม้ต้นเดียวกัน” เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพคนไทย ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพ

 นพ.เสรี หงส์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงบทบาทกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานตามพรบ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ว่าในระบบสุขภาพทั้งหมด กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ของประเทศ และกระทรวงก็ไม่สามารถทำเรื่องสุขภาพด้วยตัวกระทรวงเองเพียงลำพัง ต้องใช้ทุกภาคส่วนมาร่วมกัน อย่างเรื่องธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ มีความเกี่ยวข้องตามนโยบายของกระทรวงหลายอย่างทั้งระบบยุทธศาสตร์ของสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์(สนย.) ระบบสร้างเสริมสุขภาพ การควบคุม ป้องกันโรคและปัจจัยคุกคามสุขภาพของกรมควบคุมโรค ระบบการคลัง รวมถึงระบบบุคลากรซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุขมาก ธรรมนูญสุขภาพจึงเป็นประโยชน์ต่อกระทรวงมากเพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการทำงานร่วมกัน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการ สนย. เสริมว่า การทำงานของกระทรวงสาธารณสุขและสช. ควรทำงานผ่านแผนพัฒนาต่างๆร่วมกันโดยเฉพาะ แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และแผนปฏิบัติราชการของกระทรวงและรายกรม ซึ่งขณะนี้กระบวนการยกร่าง และทำแผน 11 กำลังเริ่มขึ้นทั้งในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงสาธารณสุข รูปธรรมอย่างหนึ่งที่จะบอกว่าธรรมนูญสุขภาพผูกพันทุกหน่วยงานจริงหรือไม่ คือการนำธรรมนูญสุขภาพไปใช้เป็นกรอบทิศทางในการจัดทำแผนเหล่านี้
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคศุวพลา  อดีตอธิบดีกรมอนามัย ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีพัฒนาการทำงานแบ่งได้เป็น 3 ช่วงสำคัญซึ่งเปรียบได้กับคลื่น 3 ลูกใหญ่ คือ คลื่นลูกที่ 1 เกิดการสาธารณสุขมูลฐาน ซึ่งนับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะ เปลี่ยนทั้งโครงสร้างและการจัดบริการ และเป็นการเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมจากวิชาชีพสาขาอื่นๆ นอกเหนือจากสาธารณสุข มีการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน มีการกระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปสู่ชนบท เกิดโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย ในระดับชุมชนมีอาสาสมัครสาธารณสุข ซึ่งเป็นตัวเชื่อมตั้งแต่ระดับหมู่บ้านไปถึงโรงพยาบาลทุกระดับ ซึ่งนับว่าเป็นต้นทุนของระบบบริการสุขภาพของบ้านเราจนถึงทุกวันนี้ 
   
คลื่นลูกที่ 2 เกิดจากการบริหารจัดการและเรื่องเชิงนโยบายของระบบสุขภาพทั้งระบบยังไม่เข้มแข็งพอ จึงเกิดหน่วยงาน องค์กรในและนอกกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น เริ่มจาก “สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข” หรือ สวรส. ขึ้นเพื่อดูแลการพัฒนาความรู้และข้อเสนอทางนโยบาย ในเรื่องของการสร้างพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม ก็ตั้งให้มี“สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ สสส.ทำหน้าที่ดูแล สร้างเสริมสุขภาพ ในเรื่องของการเงินการคลังด้านสุขภาพและการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจึงเกิด “สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือสปสช.ขึ้นมา เหล่านี้เป็นวิวัฒนาการต่อยอดจากฐานของคลื่นลูกแรก แต่ก็ยังดูเหมือนไม่พอ การแก้ปัญหาสุขภาพของประชาชนต้องไปเหนือกว่านั้น จึงเกิดกระบวนการจัดทำกฎหมายคือพรบ.สุขภาพแห่งชาติ ซึ่งนับเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมที่ยกระดับ คือ เน้นการเป็นหุ้นส่วน โดยถามทุกภาคส่วนว่ามองสุขภาวะอย่างไร และจะทำให้เกิดเส้นทางเดินที่ไปสู่สุขภาวะอย่างไร ทำให้เกิดกระบวนการสมัชชาสุขภาพขึ้น เกิด พรบ.สุขภาพแห่งชาติ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนร่วมกันมองว่าหวังสิ่งใดในชีวิตทางด้านสุขภาพ
                                       
และการประชุมเช่นในครั้งนี้จะเป็นทางเดินสู่คลื่นลูกที่ 3 คือการขับเคลื่อนไปตามธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นเสมือนแผนที่ลายแทงสุขภาวะของสังคมไทย ธรรมนูญระบบสุขภาพไม่ได้เป็นของหน่วยงานใด แต่เป็นของสังคม ซึ่งคิดร่วมกัน ผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ จะเห็นว่าพัฒนาการของคลื่น 3 ลูกนี้มาจากต้นไม้เดียวกันคือต้นไม้ใหญ่ได้แก่ กระทรวงสาธารสุข ซึ่งเกิดการแตกกิ่ง แตกก้าน แตกใบ หากเราเข้าใจวิวัฒนาการที่ดีเราจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องเดียวกัน จึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเพื่อเดินทางไปสู่สุขภาวะ
นพ.อุกฤษฏ์ มิลินทางกูร รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นหน่วยงานเลขานุการของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สช.และกระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมายร่วมกันคือ สร้างสุขภาพที่ดีให้เกิดแก่ประชาชนไทย ซึ่งสุขภาพในที่นี้ได้ขยายความเป็นสุขภาวะ ซึ่งหมายถึงภาวะของมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย ทางจิต ทางปัญญา และ ทางสังคม มีภาระงานของสช.ที่จะช่วยสนับสนุนงานของกระทรวงสาธารณสุขได้คือการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจากการมีส่วนร่วมและผลักดันให้เกิดผลจริง โดยมีเครื่องมือได้แก่ 1)สมัชชาสุขภาพ ทั้งในระดับสมัชชาสุขภาพพื้นที่ สมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น และสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ให้เกิดกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม 2)การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เป็นกระบวนการปกป้องสุขภาวะของคนในชาติก่อนเกิดปัญหาและแก้ไขปัญหาที่เกิดแล้ว 3)ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรอบแนวทางในการกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของไทย  4)ส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ เช่น สิทธิการปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต (ม.12 พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ) เป็นต้น  โดยสช.ทำหน้าที่เป็นหน่วยเชื่อมประสาน ให้องค์ประกอบต่างๆขับเคลื่อนสังคมสู่การพัฒนาสุขภาวะ มีการสื่อสาร และร่วมมือกัน
                         นพ.สมศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ รองอธิบดีกรมอนามัย  หนึ่งในผู้บริหารที่เข้าร่วมประชุมกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีส่วนร่วมมาตั้งแต่การยกร่างและจัดทำ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ และธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกรมอนามัยโดยตรงก็ได้แก่หมวดที่ 4 เรื่องการสร้างเสริมสุขภาพ และหมวดที่ 5 เรื่อง การป้องกันและควบคุมโรคและปัจจัยคุกคามสุขภาพ ซึ่งทางกรมอนามัยได้ทำข้อเสนอทางวิชาการและยกร่างธรรมนูญระบบสุขภาพ ตลอดจนนำมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติไปขับเคลื่อนให้เกิดผล เช่น ยุทธศาสตร์การอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ซึ่งขณะนี้กรมอนามัยก็มีคณะกรรมการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แต่ละยุทธศาสตร์ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และภายในเดือนนี้จะแปลงยุทธศาสตร์เป็นแผนปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาวัยรุ่น เช่นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ และจะมีส่วนช่วยในการดึงวัยรุ่นเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายในการแก้ปัญหาด้วย
หลังจากการแบ่งกลุ่มเพื่อหารือกระบวนการทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขและสช. ทุกกลุ่มต่างกล่าวถึงการวางรูปแบบและมีกลไกทำงานร่วมกันที่จะสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งอย่างเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ เพราะความสำเร็จจะเกิดจากการเปิดใจคุยกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกันและนำสู่การทำงานร่วมกัน การประชุมครั้งนี้จึงเป็นนิมิตรหมายที่ดี ทำให้เกิดความรู้สึกของความเป็นกัลยาณมิตร เป็นเพื่อนกัน
ในระดับปฏิบัติการ ผู้เข้าประชุมเห็นตรงกันว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะสื่อสารให้เกิดความเข้าใจร่วมกันระหว่าง สช.กับสธ. แม้แต่ในระดับพื้นที่ เพราะทุกหน่วยงานของกระทรวงที่ตั้งในพื้นที่ สช.ก็สามารถที่จะไปพูดคุยขอความร่วมมือได้ ในส่วนของกระทรวงก็จะนำข้อมูลตรงนี้ไปถ่ายทอดต่อไปให้กับระดับพื้นที่
          ธรรมนูญระบบสุขภาพวางไว้เป็นกรอบกว้างๆ กรมต่างๆในกระทรวงสาธารณสุขต้องนำไปปฏิบัติให้เกิดผลจริง ไปวิเคราะห์ความเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากทิศทางที่ธรรมนูญระบบสุขภาพกำหนดไปสู่การออกแบบแผนงาน โครงการ กิจกรรมของและกรมที่จะบรรจุในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี หรือ 1 ปีต่อไป ทั้งนี้ภาคีภาคประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมช่วยประเมิน หรือเฝ้าติดตามว่าธรรมนูญระบบสุขภาพที่ประกาศออกมาแล้วว่าได้นำไปปฏิบัติมากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะสะท้อนกลับไปที่ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้รับทราบ และนำไปปรับปรุงต่อไป  
                                 ****************************** 19 เมษายน 2553


   
   


View 12    19/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ