วันนี้(19 เมษายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารถึงการเตรียมรับมือการชุมนุมที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2553 ว่า ศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินได้เตรียมการไว้สำหรับการรองรับโดย ตั้งศูนย์รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน 4 จุดหลัก ทางด้านทิศเหนือมีศูนย์นเรนทรและโรงพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เป็นหลัก ทางทิศใต้มีโรงพยาบาลจุฬาฯกับโรงพยาบาลในสังกัดมหาวิทยาลัยเช่นโรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช เป็นหลัก ทางด้านตะวันออกมีศูนย์เอราวัณกับโรงพยาบาลเอกชน ทางด้านทิศตะวันตกมีโรงพยาบาลวชิระเป็นศูนย์หลัก โดยโรงพยาบาลตำรวจซึ่งอยู่ใกล้จุดชุมนุมที่บริเวณราชประสงค์ จะเป็นจุดคัดแยกผู้บาดเจ็บเบื้องต้นหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น จะมีการนำผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลตำรวจเพราะอยู่ใกล้บริเวณชุมนุมมากที่สุด
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามได้มีการเตรียมการสำหรับโรงพยาบาลสำหรับในเขตปริมณฑลที่จะเข้ามาช่วยลำเรียงผู้ได้รับบาดเจ็บถ้าเกิดกรณีฉุกเฉินขึ้นมา ที่สำคัญคือจะต้องมีการซักซ้อมเรื่องเส้นทางในเขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการประสานงานระหว่างศูนย์บัญชาการแพทย์แต่ละพื้นที่ เพื่อให้เกิดความชัดเจนการปฏิบัติงาน สามารถเข้าไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์ด้วยความรวดเร็วที่สุดถ้าเกิดเหตุการณ์กรณีฉุกเฉินขึ้น
นายจุรินทร์ กล่าวเพิ่มว่า สำหรับยอดผู้บาดเจ็บในตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (19 เมษายน 2553 ) มีผู้บาดเจ็บ 863 คน อยู่ห้องไอซียู 6 คน ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ 2 คน โรงพยาบาลกลาง 1 คน โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 คน โรงพยาบาลศิริราช 1 คน โรงพยาบาลพระรามเก้า 1 คน ส่วนผู้เสียชีวิต 25 คน และยังคงนอนพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 124 คน ที่เหลือออกจากโรงพยาบาลแล้ว
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือทางด้านการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บว่า ได้ให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน ขึ้นเว็บไซด์ว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง และประสานงานกับทุกโรงพยาบาลที่ให้ความช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ และอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่จะเข้ามาช่วยเสริมใน กทม. จะให้ทีมงานมาศึกษาเส้นทางก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้หลงเส้นทาง และให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด
ทางด้านนายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้นโยบายกรมสุขภาพจิตเข้าไปเยียวยาจิตใจของผู้บาเจ็บว่า ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2553 เป็นต้นมาได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจเข้าไปประสานกับโรงพยาบาลต่างๆ และกลุ่มผู้ป่วยในทั้งหมดเป็นเป้าหมายแรก ต่อไปก็จะเป็นญาติผู้เสียชีวิตและกลุ่มผู้บาดเจ็บ ที่ผ่านมาได้เข้าเยี่ยมผู้รับบริการทั้งหมด 55 รายเป็นพลเรือน 41 ราย ทหาร 14 ราย ใน 9 โรงพยาบาล และญาติอีก 20 ราย ผลการประเมินพบมีความเสี่ยงต่อความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าปานกลาง 2 ราย พบทหารมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าค่อนข้างมาก 2 ราย และมีภาวะซึมเศร้าเฉียบพลัน 1 ราย แต่ยังไม่พบกลุ่มเสี่ยงภาวะซึมเศร้าเรื้อรัง ทั้งนี้จะมีการดำเนินการต่อไปให้ครอบคลุมโดยประสานงานกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และจิตแพทย์โรงพยาบาลต่างๆที่จะทำงานร่วมกัน******************* 19 เมษายน 2553
View 13
19/04/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ