นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุชุมนุม เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 สรุปมีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 864 คน นอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 66 ราย ส่วนใหญ่เป็นทหาร ยังอยู่ในห้องไอซียู 5 ราย ที่รพ.พระมงกุฎเกล้าฯ 3 ราย รพ.กลาง 1 ราย และรพ.พระรามเก้า 1 ราย เหตุระเบิดที่บริเวณแยกศาลาแดง ถนนสีลม เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2553 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 79 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยังนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 19 ราย ในจำนวนนี้ 17 รายอาการคงที่ อยู่ห้องไอซียู 2 ราย รายที่ 1 อยู่ที่รพ.จุฬาฯ เป็นหญิงโดนสะเก็ดระเบิดที่ศีรษะ ผ่าตัด 2 ครั้ง ยังต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด รายที่ 2 อยู่ที่รพ.ตำรวจ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดนสะเก็ดระเบิดที่ขา มีอาการอักเสบติดเชื้อ อย่างไรก็ตามผู้ที่อาการคงที่มี 1 รายเป็นทหาร ย้ายออกจากห้องไอซียู ต้องให้การดูแลสุขภาพจิตเป็นพิเศษ และกรณีล่าสุดเหตุระเบิดที่ถนนจรัลสนิทวงศ์เมื่อคืนวันที่ 25 เมษายน 2553 มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย ส่งรักษาที่รพ.เจ้าพระยา 1 ราย รพ.วชิระ 5 ราย และรพ.ศิริราช 5 ราย นอนรักษาตัวที่รพ. 2 รายอยู่ที่รพ.เจ้าพระยา 1 รายเป็นหญิง อาการค่อนข้างหนัก และที่วชิรพยาบาล 1 ราย
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่าจากกรณีที่มีเหตุการณ์บุกรุกรพ. รวมทั้งเหตุวางระเบิดบริเวณหน้ารพ. นั้น ในด้านการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคง เป็นหน้าที่ของศอฉ. ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขจะดูแลด้านการรักษาพยาบาล มีศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินฯ ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเตรียมรองรับไว้ใน 2 รูปแบบคือกรณีเกิดเหตุการณ์จุดเดียว และเกิดแบบกระจายหลายจุด มีการเตรียมระดมรถพยาบาลกู้ชีพจากต่างจังหวัดเข้ามาช่วยเสริมด้วย ขณะนี้มีการกำหนดจุดโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลเป็นวงแหวนรอบนอก 4 ทิศ หากสถานการณ์รุนแรงขึ้นก็จะระดมเครือข่ายของโรงพยาบาลเหล่านี้ ซึ่งมีเครือข่ายละ 4-5 แห่ง เข้ามาช่วยเสริมอีก
สำหรับกรณีสถานการณ์การชุมนุม กรมสุขภาพจิตได้ทำการสำรวจสภาพจิตใจของประชาชนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา พบตัวเลขที่น่าสนใจ โดยได้แบ่งสภาพของความรู้สึกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับปกติ ปานกลาง และรุนแรง โดยระดับรุนแรง เช่น คุยเรื่องการเมืองเมื่อใดก็อารมณ์เสียเมื่อนั้น หรือถ้าใครไม่เห็นด้วยกับความคิดของตนก็จะโต้เถียงอย่างรุนแรงทุกครั้ง หรือมีความพยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยกับตนเอง หรือมีความวิตกกังวลว่าจะเกิดเหตุร้ายแรงกับประเทศอยู่ตลอดเวลา เป็นต้น พบว่า มีผู้ที่มีความรู้สึกระดับรุนแรงมากถึงร้อยละ 25-29 ซึ่งถือว่ารุนแรงกว่าจากเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเช่นกรณีสึนามิ หรือความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้รู้สึกระดับรุนแรงแค่ร้อยละ 10 หากแยกเป็นรายภาค พบว่า ทุกภาคระดับอารมณ์ทางการเมืองระดับรุนแรงทรงตัวในระดับสูง โดยกรุงเทพมหานครสูงอย่างต่อเนื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในระดับสูงมาก ภาคเหนือมีแนวโน้มขยับสูงขึ้น และภาคกลางก่อนเกิดเหตุมีความรู้สึกในระดับสูง โดยเฉพาะความวิตกกังวลแต่เมื่อเกิดเหตุก็ลดลง เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุไม่ได้กระจายไปทั่วภาคกลาง ส่วนภาคใต้อยู่ในระดับต่ำถึงคงที่
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กรมสุขภาพจิต ได้ออกเยี่ยมผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553 จำนวน 50 ราย และ 20 ครอบครัว โดยได้เตรียมของบประมาณจากงบกลาง 30 ล้านบาท เพื่อจัดทำแผนออกเยี่ยมผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว รวมทั้งชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมเป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยทำแผนออกเยี่ยมตลอดปี เพื่อติดตามระดับสุขภาพจิตและเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูผู้ที่ได้รับผลกระทบ โดยจะลงนามเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ด้านนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า แผนการดำเนินงานเยียวยาจิตใจตามงบประมาณที่เสนอไว้ ได้แก่ 1.การเยียวยาจิตใจ ทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และชุมชน ประมาณ 3 ครั้งต่อราย 2.การพัฒนาศักยภาพเครือข่ายทั่วประเทศอาทิ หน่วยบริการสาธารณสุขทุกระดับ อสส. อสม. แกนนำชุมชน พระ ให้มีความสามารถช่วยเหลือประชาชน สามารถคัดกรอง ดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ และส่งต่อกรณีเกินขีดความสามารถ รวมทั้งการสร้างศูนย์ดูแลสุขภาพจิตในภาวะวิกฤตในรพ.ศูนย์และรพ.ทั่วไป 94 แห่งทั่วประเทศ 3.การฟื้นฟูสังคม เผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน ให้สามารถดูแลจิตใจตนเองเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต 4.การบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1323 5.จัดตั้งศูนย์เยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และ6.แผนการเฝ้าระวังสุขภาพจิต เช่นสำรวจอารมณ์ทางการเมืองและจัดทำระบบรายงาน โดยจะของบประมาณ 30 ล้านบาทจากงบกลางปีงบประมาณ 2553
************************** 26 เมษายน 2553