วันนี้ (30 เมษายน 2553) ที่โรงแรมสตาร์ จ.ระยอง นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดประชุมและมอบนโยบาย ในงานประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ว่า จากกรณีที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปตรวจค้นที่รพ.จุฬาฯเมื่อเย็นวานนี้(29 เมษายน 2553) ขณะนี้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง ได้ขอความร่วมมือกันมาตั้งแต่เบี้องต้นแล้ว ในการเข้าไปดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากกรณีเหตุการณ์ชุมนุมของศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ที่มีโรงพยาบาลทั้งสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย กองทัพ ตำรวจ กทม. และโรงพยาบาลเอกชนเป็นเครือข่าย พร้อมจะให้บริการและเข้าไปดูแลผู้ได้รับบาดเจ็บโดยไม่เลือกฝ่ายอย่างเต็มกำลังความสามารถ ได้ขอความร่วมมืออย่าให้มีการขัดขวางหรือสกัดกั้นการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ประสานงานกันมาตลอด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสกัดรถพยาบาล หรือขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ที่ผ่านมามีปัญหาเกิดขึ้นบ้าง แต่เจ้าหน้าที่ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอดทน รวมทั้งทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดีในช่วงเวลาที่ผ่านมา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์เมื่อวานนี้ ผมคิดว่าการเข้าไปตรวจค้นหรือเข้าไปในบริเวณรพ.จุฬาฯทำให้ทุกฝ่ายไม่สบายใจมากขึ้น เริ่มมีความรู้สึกเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่ควรจะเกิดกรณีนี้อีก เพราะจะทำให้เกิดปัญหาในการปฎิบัติหน้าที่ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยปกติและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ จากเหตุชุมนุม นายจุรินทร์กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ต้องขอความร่วมมืออีกครั้งหนึ่งจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ชุมนุมอย่าให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก ควรจะอำนวยความสะดวกให้กับทุกโรงพยาบาลในการเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ เพราะเป้าหมายจริงๆ คือเข้าไปช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บโดยไม่เลือกฝ่าย การเข้าไปในโรงพยาบาลทำให้เกิดปัญหา โดยหลักสากลเขาไม่ทำกัน แม้แต่ในยามสงครามยังมีการยกเว้นสำหรับหน่วยรถพยาบาลและสถานพยาบาล เพราะฉะนั้นไม่ควรจะให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ขณะนี้ที่กระทรวงสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์กำลังประชุมกันอยู่ อาจจะมีความเห็นเพิ่มเติมในช่วงบ่ายนี้
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า การแพทย์ฉุกเฉินเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินสามารถไปโรงพยาบาลได้ในเวลาอันรวดเร็ว ผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรืออุบัติภัยก็มีโอกาสรอดชีวิตสูง และช่วยลดการเสียชีวิตได้มาก จึงได้เร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะนี้ได้มีการตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ มีศูนย์ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และมีศูนย์ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด 79 แห่ง ครอบคลุมทุกจังหวัดโดยใช้โทรศัพท์ 1669 ทั่วประเทศในการรับแจ้งเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง ขอให้ประชาชนใช้บริการได้ในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุทั้งจากอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติ และมีเจ้าหน้าที่สั่งการการปฏิบัติหน้าที่ตลอดเวลา มียานพาหนะส่งทั้ง รถ เรือและเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินถ้ามีความจำเป็น โดยค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้บาดเจ็บ ผู้เจ็บป่วยรอดชีวิต รวมทั้งกรณีฉุกเฉินจากการชุมนุมทางการเมืองด้วย
*********************************30 เมษายน 2553
 


   
   


View 11    30/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ