หากพบผู้ป่วยสงสัย ให้รพ.จ่ายยาต้านไวรัสทันที และเก็บเชื้อส่งตรวจ ด้านรองอธิบดีกรมควบคุมโรค เตือนอย่าจับซากสัตว์ปีกด้วยมือเปล่า ชี้ขณะนี้เพื่อนบ้านไทยยังมีผู้ป่วยตายจากโรคนี้ จากกรณีที่พบนกปากห่างตายเป็นจำนวนนับพันตัว ในพื้นที่หมู่ 3 และหมู่ 4 ตำบลโคกช้าง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์นั้น ความคืบหน้าในเรื่องนี้ วันนี้ (3 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมโรคเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่ หากพบผู้ป่วยมีอาการอยู่ในข่ายสงสัย ขอให้โรงพยาบาลให้ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทันที และเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งส่งตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ ทั้งนี้เพื่อป้องกันการเสียชีวิตของผู้ป่วย และเข้าควบคุมโรคได้ทันที ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ เร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอผักไห่ป้องกันตัว ไม่ว่านกปากห่างจะตายด้วยสาเหตุใดก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ โดยให้เจ้าหน้าที่สถานีอนามัยต.โคกช้างเป็นแกนนำ ร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขในพื้นที่ ออกเคาะประตูบ้านย้ำเตือนประชาชนให้ระวังโรคไข้หวัดนก และหากพบมีผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัด โดยเฉพาะผู้ที่สัมผัสกับซากสัตว์ปีก ขอให้รีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นการด่วน เนื่องจากสถานการณ์ทั่วโลกยังพบไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องทั้งในคนและในสัตว์ปีก ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขกัมพูชารายงานว่า มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก เป็นชาย อายุ 27 ปี อยู่ในจังหวัดติดกรุงพนมเปญทางด้านตะวันออก เสียชีวิตเมื่อกลางเดือนเมษายน 2553 ถึงแม้ว่าไทยจะไม่พบผู้ป่วยมาแล้ว 4 ปีก็ตาม แต่ไม่ควรประมาท เพราะเชื้อมีโอกาสหวนกลับมาระบาดอีกได้ จึงต้องเน้นย้ำที่การป้องกันและเฝ้าระวัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ทางด้านนายแพทย์นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ในปี 2553 พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในคน 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศอียิปต์มีผู้ป่วย 19 ราย เสียชีวิต 7 ราย ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้ป่วย 1 ราย เสียชีวิตทั้งหมด และเวียดนาม มีผู้ป่วย 7 ราย เสียชีวิต 2 ราย ตั้งแต่ พ.ศ.2546 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2553 ทั่วโลกมีผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกรวม 495 ราย เสียชีวิต 292 รายใน 15 ประเทศ ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกตายผิดปกติ ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้รับทราบทันทีเพื่อดำเนินการส่งตรวจชันสูตรหาสาเหตุการตาย และเก็บซากไปทำลายฝังกลบให้ถูกวิธี ในการเก็บซากสัตว์ปีกต้องไม่จับด้วยมือเปล่า ต้องสวมถุงมือยางหรือถุงพลาสติกหนาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากฝังกลบต้องฝังห่างจากแหล่งน้ำธรรมชาติอย่างน้อย 30 เมตร และขุดหลุมลึก 1 เมตร โรยยาฆ่าเชื้อหรือปูนขาวและกลบดินให้แน่น อย่านำสัตว์ปีกทุกชนิดที่ป่วยตายมารับประทานอย่างเด็ดขาด เพราะการติดเชื้อจะเกิดขึ้นระหว่างการสัมผัส เช่นขณะชำแหละ ขณะขนย้าย หรือกินเครื่องในและเนื้อสัตว์ปีกที่ไม่สุก 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ขอให้งดการเล่นน้ำในแหล่งน้ำที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถอยู่ในน้ำได้เป็นเวลานาน ************************************* 3 พฤษภาคม 2553


   
   


View 12    03/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ