วันนี้(4 พฤษภาคม 2553) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 6 เรื่องการควบคุมปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มที่บรรจุในภาชนะที่ปิดสนิท จากเดิม 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตรเป็น 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงและคุ้มครองประชาชนไม่ให้ได้รับฟลูออไรด์มากเกินจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยเฉพาะเด็กที่กินน้ำบรรจุขวดตั้งแต่เกิดอาจทำให้เด็กทุกคนมีปัญหากระดูกผิดปกติและฟันตกกระได้
นายจุรินทร์กล่าวว่า เนื่องจากครัวเรือนในปัจจุบัน มีแนวโน้มการใช้น้ำดื่มบรรจุขวดเพิ่มมากขึ้น จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 พบแหล่งน้ำดื่มครัวเรือนทั่วประเทศเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดถึงร้อยละ 29 หรือประมาณ 1 ใน 4 ของน้ำที่ใช้ดื่มทั้งหมด
ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ฟลูออไรด์มีประโยชน์จะช่วยป้องกันโรคฟันผุ โดยทั่วไปร่างกายจะได้รับจากการบริโภคน้ำดื่มและอาหาร จากการศึกษาความสัมพันธ์ของฟลูออไรด์กับฟันตกกระในประเทศไทยโดยกรมอนามัย พบการดื่มน้ำที่มีฟลูออไรด์ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไปจะทำให้ฟันตกกระ และเมื่อประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระในเด็กไทยกับฟลูออไรด์ในน้ำดื่มและในยาสีฟัน พบว่าเด็กอายุ 3 ปีที่ดื่มน้ำมีฟลูออไรด์ 1.5 มิลลิกรัมต่อลิตรซึ่งเป็นเกณฑ์ควบคุมน้ำดื่มบรรจุขวดที่มีตามประกาศฯในปัจจุบัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดฟันตกกระเป็นเท่าตัว เมื่อเทียบกับเด็กที่ดื่มน้ำมีฟลูออไรด์ 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร ทั้งนี้ผลสำรวจสถานการณ์ปริมาณฟลูออไรด์ในน้ำดื่มบรรจุขวดทั่วประเทศพบมีปริมาณฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตรร้อยละ 2.24 หรือประมาณ 100 แห่ง ดังนั้น อย.จึงได้กำหนดให้น้ำดื่มบรรจุขวดมีฟลูออไรด์ไม่เกิน 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตร เพื่อไม่ไห้ส่งผลต่อสุขภาพของเด็ก โดยประกาศกระทรวงฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังลงราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน
นายแพทย์พิพัฒน์ กล่าวต่อไปว่า อันตรายจากการได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปจะเกิดโทษต่อร่างกาย 2 ลักษณะ คือ พิษแบบเฉียบพลัน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย และหากเด็กได้รับในปริมาณ 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว มีผลต่อระบบหัวใจทำให้เสียชีวิตได้ โทษอีกลักษณะหนึ่งคือ การเป็นพิษแบบเรื้อรัง เกิดจากการได้รับฟลูออไรด์จากน้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์มากกว่า 0.7 มิลลิกรัมต่อลิตรเป็นประจำติดต่อกัน ซึ่งหากได้รับตั้งแต่เกิดจนถึง 8 ปีเป็นช่วงที่ฟันแท้กำลังสร้างก็จะทำให้ฟันตกกระ ฟันแท้มีสีขาวขุ่นจนถึงขั้นฟันลาย หรือมีสีน้ำตาล ฟันตกกระยังเกิดได้จากการได้รับฟลูออไรด์แหล่งอื่นด้วย เช่น ในเด็กที่กลืนยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์ ขณะแปรงฟันเป็นประจำ หรือการใช้ฟลูออไรด์เสริมที่ไม่เหมาะสม เช่น กินฟลูออไรด์เม็ดหรือนมฟลูออไรด์มากเกินกำหนด
นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ได้มีคำเตือนไว้ว่า ในผู้ที่บริโภคน้ำมีฟลูออไรด์ตั้งแต่ 4 มิลลิกรัมต่อลิตรขึ้นไปเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่กระดูก เนื่องจากมีฟลูออไรด์สะสมที่กระดูกมาก ทำให้กระดูกหนา กระดูกขาผิดรูปร่างโก่งงอ หรือมีกระดูกงอกบริเวณที่เกาะของเอ็นและกล้ามเนื้อ กดทับเส้นประสาท ทำให้ปวดข้อ เคลื่อนไหวลำบากหรือจนถึงขั้นพิการได้
**************************** 4 พฤษภาคม 2553