โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ชี้สถานการณ์โรคไทฟอยด์ในประเทศไทย ไม่น่าเป็นห่วง รอบ 4 เดือนปี 2553 พบป่วย 888 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แนะนำวิธีปลอดโรค ให้ประชาชนกินอาหารสุก ไม่มีแมลงวันตอม และดื่มน้ำสะอาด โดยเฉพาะผักสด ผลไม้ ต้องล้างให้สะอาด ส่วนผู้ผลิตไอติมหลอดขาย ให้เข้มเรื่องความสะอาดทั้งน้ำ อุปกรณ์ และมือ รายใดที่ป่วยเป็นไทฟอยด์ต้องงดประกอบอาหารจนกว่าจะหายขาด

          จากกรณีที่มีข่าวพบการระบาดของโรคไทฟอยด์ในนักเรียนที่จังหวัดสงขลาเมื่อเดือนกันยายน 2552 – มกราคม 2553 พบผู้ป่วยประมาณ 140 คน และสงสัยว่าเกิดจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด นั้น นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคไทฟอยด์ในภาพรวมทั่วประเทศ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่น่าห่วง แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคนี้จำนวนไม่มาก และมาตรฐานการดูแลรักษาของไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในรอบ 4 เดือนปีนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2553 พบผู้ป่วย 888 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต พบมากที่สุดที่ภาคเหนือ 326 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 307 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 199 ราย ที่เหลือเป็นภาคกลาง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยอยู่ในวัยกลางคน ตลอดปี 2552 พบผู้ป่วย 3,671 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่โรคนี้มีอัตราเสียชีวิตถึงร้อยละ 10-20 หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง โดยทั่วโลกมีรายงานป่วยปีละ 17 ล้านคน เสียชีวิตปีละประมาณ 6 แสนราย
          นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า โรคไทฟอยด์เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อซัลโมเนลลา ไทฟี (Salmonella Typhi) เชื้อจะอยู่ในอุจจาระและปัสสาวะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่อาหาร รวมทั้งมือที่ไม่สะอาด มีระยะฟักตัวประมาณ 1-3 สัปดาห์ มักพบมากในช่วงฤดูร้อนซึ่งเชื้อมีการแพร่พันธุ์ได้ดี อาการของโรคที่เด่นชัด จะมีไข้สูงติดต่อกันนานกว่า 1 สัปดาห์ ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก บางรายอาจมีท้องเสีย หรือถ่ายเป็นเลือด อาจมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากลำไส้ทะลุ และผู้ป่วยอาจมีผื่นที่ท้อง หน้าอก หรือหลัง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ผู้ที่มีอาการดังกล่าวขอไปพบแพทย์เพื่อรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ซึ่งมีในโรงพยาบาลทุกแห่ง
                ในการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไทฟอยด์ ขอให้ประชาชนรับประทานอาหารที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ และสุก 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีแมลงวันตอม หลีกเลี่ยงการกินอาหารสุก ๆ ดิบๆ ดื่มน้ำสะอาด หรือน้ำต้มสุก ถ่ายอุจจาระลงส้วม และล้างมือทุกครั้งหลังถ่ายอุจจาระ และก่อนปรุงอาหาร ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไทฟอยด์จะต้องงดการประกอบอาหารจนกว่าจะหายขาด เนื่องจากยังสามารถแพร่เชื้อติดต่อคนอื่นได้ตลอดเวลา
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อไปว่า ผู้ที่นิยมรับประทานสลัด ผักสด และผลไม้ ขอให้ล้างให้สะอาดเพื่อขจัดเชื้อที่ติดอยู่กับตามใบผักและเปลือกผลไม้ โดยเฉพาะผู้ที่ผลิตไอติมหลอดที่ขายตามท้องตลาด ขอให้เน้นความสะอาดเป็นพิเศษ ทั้งน้ำ น้ำหวาน ไม้เสียบไอติม อุปกรณ์ในการทำไอติม และความสะอาดของมือ รวมทั้งขอความร่วมมือแม่ค้าพ่อค้าอย่านำผักสด เนื้อสัตว์ ขวดน้ำ แช่รวมกับน้ำแข็งที่ใช้ใส่น้ำดื่ม เนื่องจากเชื้อนี้อยู่ในความเย็นได้
 ************************************* 7 พฤษภาคม 2553
 


   
   


View 17    07/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ