การรักษาโดยไม่จำกัดจำนวนวัน เริ่ม 1 ต.ค 53 นี้ และมอบผู้เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางการปรับปรุงระบบการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

วันนี้ (10พฤษภาคม 2553) ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ในวันนี้ ที่ประชุมได้มีมติใน 2 เรื่อง เรื่องแรกได้แก่พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.)ได้ทำการศึกษาและให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นว่าหลังจากที่มีการใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2536 จนถึงปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม นอกจากมีระบบสวัสดิการข้าราชการ ระบบประกันสังคมแล้ว ยังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถึงขั้นรักษาพยาบาลฟรีให้คนไทยถึง 48 ล้านคน ซึ่งรวมทั้งผู้ประสบภัยจากรถด้วย

                               

ซึ่งพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเมื่อสถานการณ์ของระบบประกันสุขภาพเปลี่ยนไป จำเป็นจะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ดังนั้นที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ ดร.อัมมาร สยามวาลา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินการคลัง ผู้แทน สวรส. ผู้แทน สปสช. ผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทั้งเชิญผู้แทนจากสำนักงานประกันสังคม และกระทรวงการคลัง มาร่วมกันศึกษาว่าควรมีการปรับปรุงอะไรอย่างไรบ้าง รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายในอนาคต เพื่อนำเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป

                              

นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เรื่องที่ 2. คือ การให้บริการผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 นี้   รัฐบาลได้จัดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลฟรี เป็นค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับคนไทย 48 ล้านคน เพิ่มจากเดิม 2,401 บาท เป็น 2,546 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 145 บาทต่อคนต่อปี ในจำนวนนี้ จะมีการให้บริการผู้ป่วยจิตเวชรวมอยู่ด้วย ในรูปกองทุนที่แยกออกมาเป็นพิเศษ จำนวน 203 ล้านบาท โดยสิทธิเดิมที่ให้กับผู้ป่วยจิตเวชคือจะให้การรักษาพยาบาลครั้งละไม่เกิน 15 วัน ในวันนี้ที่ประชุม เห็นชอบว่าให้การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยจิตเวชเพิ่มเติมขึ้นโดยไม่จำกัดว่าต้องไม่เกิน 15 วัน โดยให้เป็นไปตามความเหมาะสม ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ผู้ให้การรักษา ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยจิตเวชได้มีโอกาสได้รับการดูแลรักษาโดยสิทธิที่เพิ่มขึ้น จะเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยมากขึ้น โดยจะเริ่มได้ตั้งแต่วันที่ 1ตุลาคม 2553 นี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าจะลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลโดยเฉพาะค่ายาด้านจิตเวชในอนาคตด้วย

                                

ทั้งนี้ ข้อมูลกรมสุขภาพจิตระบุว่า  มีผู้ป่วยจิตเวชนอนพักรักษาตัวในรพ.เฉลี่ยเกิน 15 วัน มีถึงร้อยละ 52  หากแบ่งสัดส่วนของการใช้บริการในรพ.พบว่า รพ.ศูนย์มีร้อยละ 20.7 รพ.จิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตมีร้อยละ 58.7 และรพ.ทั่วไปมีร้อยละ 66.1  

***************************************************** 10 พฤษภาคม 2553



   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ