กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาคุณวุฒิอสม.กว่า 980,000 คนทั่วประเทศให้สูงขึ้นกว่าเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสร้างสุขภาพประชาชน โดยร่วมมือกับศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจัดการเรียนการสอน อสม. สามารถนำประสบการณ์ทำงาน 14 ภารกิจ เทียบโอนหน่วยกิตได้ 2 – 5 หมวดวิชา เรียนจบเร็วกว่าคนทั่วไป

วันนี้ (12 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ยั่งยืนสู่ประชาชนทั้งประเทศ โดยการยกระดับคุณภาพการศึกษาให้กับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ทั่วประเทศ จำนวน 987,019 คนให้สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจะทำให้การทำงานอสม.มีศักยภาพในการทำงานพัฒนาสุขภาพที่ดีให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ พบว่า อสม.กว่าร้อยละ 80 จบการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ประมาณ
นางพรรณสิริกล่าวต่อว่า เงื่อนไขการใช้ผลงานเทียบโอนหมวดวิชา อสม.ที่ไม่จบป.4 แต่เป็นอสม.ไม่น้อยกว่า 6 เดือน สามารถเทียบโอนได้ 2 หมวดวิชาคือหมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 1 กับหมวดวิชาพัฒนาสังคมและชุมชน จากทั้งหมด 8 หมวดวิชา หากเป็นอสม.ดีเด่น ที่ได้รับใบประกาศรับรองจากสาธารณสุขจังหวัด จะสามารถเทียบโอนได้เพิ่มจากเดิมอีก 1 หมวดวิชา คือหมวดพัฒนาอาชีพหรือหมวดวิชาพัฒนาทักษะชีวิต 2 หมวดใดหมวดหนึ่ง รวมเป็น 3 หมวดวิชา ทำให้สามารถจบการศึกษาได้เร็วขึ้น ใช้เวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น และเมื่อจบถึงชั้น ม.6 ก็จะสามารถศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือหลักสูตรระยะสั้นของวิทยาลัยชุมชนต่างๆ ได้  
          ขณะนี้ ได้เริ่มนำร่องแล้วที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งมีอสม.จังหวัดสุโขทัยสนใจสมัครเข้าโครงการกว่าร้อยละ 50 ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อสม. สามารถสมัครเข้าเรียนและเทียบโอนหน่วยกิต ได้ที่สถานีอนามัยประจำตำบล ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และศูนย์การศึกษานอกระบบ และศูนย์การศึกษาตามอัธยาศัยใกล้บ้าน เริ่มรับสมัครรุ่นแรกไปแล้วเมื่อเดือนเมษายน 2553 และจะเปิดรับสมัครรุ่นที่ 2 ในเดือนตุลาคม 2553
                สำหรับ 14 ภารกิจของอสม. ที่นำไปเทียบโอนได้ ประกอบด้วย 1.งานโภชนาการ 2.งานสุขศึกษา 3.การรักษาพยาบาล 4.การจัดหายาที่จำเป็น 5.การสุขาภิบาลและจัดหาน้ำสะอาด 6.อนามัยแม่และเด็ก และการวางแผนครอบครัว 7.งานควบคุมป้องกันโรคติดต่อในท้องถิ่น 8.การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค 9.การส่งเสริมสุขภาพฟัน 10.การส่งเสริมสุขภาพจิต 11.อนามัยสิ่งแวดล้อม 12.การคุ้มครองผู้บริโภค 13.การป้องกันควบคุมอุบัติเหตุอุบัติภัย และโรคไม่ติดต่อ และ14.โรคเอดส์ รวมทั้งโรคและปัญหาสุขภาพในพื้นที่ ส่วน 8 หมวดวิชาของ กศน. ประกอบด้วย หมวดวิชาบังคับ 5 หมวดวิชา ได้แก่ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และพัฒนาอาชีพ และหมวดวิชาเลือก 3 หมวดวิชา ได้แก่ พัฒนาทักษะชีวิต 1 พัฒนาทักษะชีวิต 2 และพัฒนาสังคมและชุมชน
***************************************12 พฤษภาคม 2553


   
   


View 3       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ