โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนระวังภัยจากตัวด้วงก้นกระดกหรือด้วงก้นงอน  อย่าจับเล่น อย่าตีหรือบดขยี้ เนื่องจากมีสารพิษอันตรายชื่อ เพเดอริน ฤทธิ์ทำให้ผิวหนังอักเสบเฉียบพลัน  ปวดแสบปวดร้อน เป็นแผลพุพอง รายที่แพ้รุนแรงอาจมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ หากพิษเข้าตาอาจตาบอดได้ ปีนี้พบผู้ป่วยแล้ว 26 ราย แนะวิธีแก้ไข หากถูกพิษ ให้ใช้น้ำสะอาดล้างหรือใช้แอมโมเนียเช็ดออก

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงฤดูฝนนี้ มักจะมีด้วงก้นกระดก หรือที่เรียกว่า ด้วงปีกสั้น ด้วงก้นงอน (Rove beetle) ชุกชุมกว่าฤดูอื่น ด้วงชนิดนี้เป็นแมลงที่มีประโยชน์ในการควบคุมแมลงศัตรูพืชตามธรรมชาติ  แต่มีพิษสำหรับคน ทำให้เกิดผื่นแพ้ที่ผิวหนังอย่างเฉียบพลัน แต่ไม่ถึงขั้นเสียชิวิต มีรายงานผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศ   โดยด้วงกระดกจะมีพิษชื่อว่า เพเดอริน (Paederin) อยู่ทั่วตัว ด้วง 1 ตัว จะมีสารพิษอยู่ในตัวประมาณ 0.025 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว พิษมีฤทธิ์ทำลายเซลล์เนื้อเยื่อ หากถูกผิวหนัง จะเกิดอาการอักเสบ แสบร้อน พุพอง ส่วนใหญ่พิษจะมีในด้วงตัวเมีย โดยด้วงจะปล่อยน้ำพิษออกมาในกรณีที่ด้วงตกใจ หรือถูกตี ถูกบีบ ถูกบดขยี้  เพื่อป้องกันตัว   
หลังจากที่คนสัมผัสพิษด้วงกระดก อาการจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับปริมาณพิษที่สัมผัส  โดยหลังสัมผัสใน 24 ชั่วโมงแรก ผิวจะมีผื่นแดง คัน แสบร้อน เกิดเป็นแผลพุพองภายใน 48 ชั่วโมง และมีการอักเสบขยายวงใหญ่ขึ้น จากนั้นจึงตกสะเก็ดภายใน 8 วัน อาจทำให้เกิดแผลเป็นได้ ในรายที่เป็นรุนแรง ผิวหนังจะอักเสบหลายแห่ง คล้ายงูสวัด บางรายอาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเส้นประสาท ปวดกล้ามเนื้อ อาเจียน เป็นผื่นบวมแดงติดต่อกันหลายเดือน หากพิษเข้าตาอาจทำให้ตาบอดได้
ในปี 2553นี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม –เมษายน มีรายงานผู้ถูกพิษด้วงกระดกที่จ.ราชบุรี 26 ราย ทุกรายมีผื่นแดงที่ผิวหนัง ปวดแสบปวดร้อน บางรายตาแดง ปวดหู ที่ผ่านมาเคยพบกลุ่มผู้ใช้แรงงานในจังหวัดสมุทรปราการ เกิดอาการผิวหนังอักเสบเฉียบพลันจากด้วงกระดก 27 ราย ในพ.ศ. 2536 ครั้งที่ 2 ในพ.ศ. 2549 พบผู้ป่วยที่จ.นครสวรรค์ 113 ราย และที่จ.พระนครศรีอยุธยา 30 ราย ส่วนใหญ่มีผื่นแดงเป็นทางยาว ลักษณะคล้ายรอยไหม้ ปวดแสบปวดร้อน ส่วนที่ต่างประเทศ เคยมีรายงานที่เมืองโอกินาวาในพ.ศ.2512 มีผู้สัมผัสพิษด้วงเกิดอาการรุนแรง2,000 กว่าราย และที่อินเดียในพ.ศ.2548 มีผู้ป่วย 123 ราย
นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ลักษณะของด้วงกระดก จะมีลำตัวเป็นเงามัน ยาวประมาณ 7 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีสีดำ ปีกสีน้ำเงินเข้ม ลำตัวมีสีดำสลับส้ม มักจะงอท้องส่ายขึ้นลงเมื่อเกาะอยู่กับพื้น ปกติจะอาศัยอยู่ในบริเวณพงหญ้าที่มีความชื้น ชอบออกมาเล่นไฟตามบ้านเรือนตอนกลางคืน โดยจะมีมากในฤดูฝน พบด้วงชนิดนี้ได้ทั่วโลก มากที่สุดที่อเมริกาเหนือ ซึ่งมีถึง 3,100 ชนิด สำหรับประเทศไทยคาดว่ามีประมาณ 20 ชนิด ตามปกติ ด้วงก้นกระดก จะไม่กัดหรือต่อยคน แต่คนจะได้รับพิษหากไปสัมผัส จับมาเล่น หรือ ตบ ตี บี้จนน้ำพิษแตกออกมา
ในการป้องกันด้วงก้นกระดก ขอให้ประชาชนระมัดระวัง โดยเปิดไฟในช่วงกลางคืนเท่าที่จำเป็น ก่อนนอนให้ปัดที่นอน หมอน ผ้าห่มหรือเครื่องใช้ต่างๆ โดยเฉพาะเด็กๆ อย่าจับด้วงมาเล่น ไม่ตบหรือตีเมื่อด้วงบินมาเกาะตามตัว และหากถูกพิษของด้วง ให้ล้างด้วยน้ำเปล่า ฟอกสบู่ หรือเช็ดด้วยแอมโมเนีย และควรไปพบแพทย์ นายแพทย์สุพรรณกล่าวในตอนท้าย          
**********************      13   พฤษภาคม 2553


   
   


View 13    13/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ