วันนี้(15 พฤษภาคม 2553) ที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมดูแลผู้บาดเจ็บว่า สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2553 ณ เวลา 12.00 น. มีผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมดรวมผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 1,628 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 47 ราย ยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 117 ราย อยู่ในไอซียู 14 ราย ส่วนกรณีที่เกิดเหตุช่วง 2 วัน ตั้งแต่ 14-15 พฤษภาคม 2553 ณ เวลา 12.00 น. มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตรวม 178 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 17 ราย ได้รับบาดเจ็บยังคงรักษาตัวในโรงพยาบาล 78 ราย อยู่ในไอซียู 12 ราย ที่เหลือกลับบ้านแล้ว ทั้งนี้ในช่วงเช้าวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บ 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย จากเหตุการณ์ปะทะที่ซอยหมอเหล็ง นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ต่อไปที่อาจเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ที่ประชุมในวันนี้สรุปว่า ในส่วนพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ได้มีการเตรียมพร้อมโรงพยาบาล 46 แห่ง สำรองเตียง 1,000 เตียง เตรียมรพ.ในเขตปริมณฑล 24 แห่ง สำรองเตียง 1,500 – 2,000 เตียง เพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ ใช้รพ.ราชวิถีและรพ.เลิดสินเป็นศูนย์กลางในการรับและคัดแยกผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยที่จะกระจายไปตามโรงพยาบาลต่างๆที่เตรียมไว้ในเขตปริมณฑล ซึ่งเตรียมโรงพยาบาลหลักไว้ 4 จุด ได้แก่ พื้นที่ทิศเหนือรพ.อยุธยา ทิศใต้รพ.สุมทรสาคร ทิศตะวันออกรพ.สมุทรปราการ และทิศตะวันตก รพ.พระนั่งเกล้า ทั้งนี้ในภาพรวมได้เตรียมออกซิเจนไว้ประมาณ 1,000 ถัง สำรองเลือด 4,000 - 5,000 ยูนิต นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปอีกว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งแพทย์ พยาบาล อาสาสมัคร มูลนิธิต่างๆที่เข้ามาช่วยงานสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในทุกสังกัด จะขอความร่วมมือทุกฝ่ายช่วยอำนวยความสะดวกและช่วยดูแลรถพยาบาล รถอาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆรวมทั้งบุคลากร และทหารเสนารักษ์ ซึ่งจะเข้ามาทำหน้าที่เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่พยาบาลที่จะคอยช่วยรับผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย เพื่อส่งต่อไปยังรถพยาบาล ซึ่งหน่วยทหารเสนารักษ์เป็นหน่วยระดับสากลที่ยอมรับเช่นเดียวกับหน่วยกาชาด หน่วยพยาบาลทุกประการ ในส่วนของรถพยาบาลและรถมูลนิธิ ได้ทำความเข้าใจในความพร้อมที่จะให้หน่วยงานที่มีหน้าที่ตามกฎหมายตรวจสอบได้ว่าเข้าไปเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทางด้านการแพทย์และพยาบาลเท่านั้น เพราะโดยนโยบายได้มีการพูดกันชัดเจนในที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติว่า จะต้องเข้าไปปฏิบัติหน้าที่รับผู้บาดเจ็บเท่านั้น ไม่มีนโยบายให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่อื่น และหากมีหน่วยงานใดสงสัยต้องสามารถตรวจสอบได้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย จากนี้ไปเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิต่างๆที่เข้าไปรับผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยในพื้นที่ฉุกเฉิน จะทำงานร่วมกับทหารเสนารักษ์ ในการลำเลียงผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยมาส่งยังรถพยาบาลซึ่งจะมีการประสานงานและทำความเข้าใจอีกครั้ง เพื่อดูแลผู้บาดเจ็บให้ดีที่สุด นายจุรินทร์ กล่าวในที่สุด ***************************************** 15 พฤษภาคม 2553


   
   


View 9    15/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ