รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงผลสรุปเหตุปะทะจากการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553 ถึงล่าสุด บาดเจ็บ 1,669 ราย เสียชีวิต 65 ราย ยังอยู่ในไอซียู 21 ราย ค่ารักษาเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ประสานโรงพยาบาลทุกแห่งทั้งในและนอกสังกัด เตรียมทีมแพทย์เชี่ยวชาญรับมือโดยเฉพาะ 22 จังหวัดตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉินยังใช้บริการโรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมแนะนำประชาชนและสื่อมวลชนที่อยู่ในโซนอันตรายให้ผ้าสีขาว เพื่อเป็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือหากได้รับอันตราย และให้สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่ สำรองวิทยุสื่อสาร จูนคลื่นความถี่ 162.825 เมกะเฮิร์ท หรือ 154.925 เมกกะเฮิร์ท แจ้งขอความช่วยเหลือ พร้อมเตรียมของบจัดซื้อชุดกันกระสุนให้หน่วยกู้ชีพ 200 ชุด เช้าวันนี้ (17 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เสรี หงษ์หยก ในฐานะรองประธานศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ในภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ หัวหน้าสำนักตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานฉุกเฉินจากเหตุปะทะการชุมนุมทางการเมืองว่า การปะทะในรอบวันที่ 14 - 17 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บรวม 249 ราย เสียชีวิต 35 ราย ขณะนี้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 116 ราย ในจำนวนนี้อาการหนักอยู่ในไอซียู 20 ราย สรุปเมื่อรวมกับเหตุการณ์วันที่ 12 มีนาคม 2553 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีผู้บาดเจ็บรวม 1,669 ราย เสียชีวิต 65 ราย นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 148 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในไอซียู 21 ราย ขณะนี้ทั้งผู้บาดเจ็บร้อยละ 91 รักษาหายและกลับบ้านแล้ว รวมค่ารักษาเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข จะรับผิดชอบด้านค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยผู้บาดเจ็บทุกรายตามสิทธิจนกว่าจะหายเป็นปกติ รวมทั้งดูแลฟื้นฟูด้านจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของสถานพยาบาลนั้น ในพื้นที่กทม.ซึ่งเป็นจุดปะทะหลัก ได้มีการเตรียมพร้อมโรงพยาบาล ทีมแพทย์เฉพาะทาง ระบบการประสานงานโรงพยาบาลทั้งในและนอกสังกัด เพื่อให้การดูแลผู้บาดเจ็บอย่างดีที่สุด ในส่วนของต่างจังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ 22 จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่ในภาวะฉุกเฉิน ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในสังกัดเตรียมความพร้อมและเปิดทำการไม่มีวันหยุด เจ็บป่วยฉุกเฉินสามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง จุดที่น่าห่วงขณะนี้คือ เจ้าหน้าที่หน่วยการแพทย์ฉุกเฉินที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีการปะทะกัน ซึ่งเป็นโซนอันตราย กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงความปลอดภัย หลังจากที่มีเจ้าหน้าที่กู้ชีพเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ 2 ราย โดยได้ของบกลางจัดซื้อเสื้อเกราะกันกระสุนพร้อมหมวกกันกระสุนจำนวน 200 ชุด ให้เจ้าหน้าที่ใช้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต ซึ่งเสื้อเกราะตัวละราคา 40,000 บาท หมวกราคาใบละ 5,000 บาท รวมประมาณ 9 ล้านบาท ได้ประสานกับกระทรวงกลาโหมในเบื้องต้นแล้ว คาดว่าจะเสนอเข้าครม.ในการประชุมครั้งต่อไป ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงในเขตที่มีการปะทะกัน ซึ่งเป็นโซนอันตราย ขอให้พกธงขาว ผ้าขาว เสื้อขาว หรือวัสดุที่เป็นสีขาวเท่าที่หาได้ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ หากได้รับบาดเจ็บและยังมีสติ ขอให้ตั้งสติ อย่าตกใจ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนข้าง ๆ ในระหว่างรอการช่วยเหลือให้ดูแลตนเองเบื้องต้น โดยกดห้ามเลือดในจุดที่มีเลือดออกไว้ก่อน คลายเสื้อผ้าให้หลวม สูดลมหายใจเข้าลึกๆ หากเป็นไปได้ให้งดการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ หากมีกระดูกหักขอให้นอนราบนิ่งๆ สังเกตชีพจรเป็นระยะๆ งดการดื่มน้ำไว้ชั่วคราวเพื่อสะดวกในการช่วยเหลือกรณีต้องได้รับการผ่าตัดเร่งด่วน สำหรับการสื่อสาร ขอให้ประชาชนพกนกหวีดเพื่อใช้เป่าส่งเสียงขอความช่วยเหลือ สำหรับประชาชนสามารถขอความช่วยเหลือด้านการแพทย์ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1669 ในส่วนของสื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อื่นๆ หากเป็นไปได้ขอให้ใช้วิทยุสื่อสารในการติดต่อประสานงานและจูนคลื่นความถี่ ของศูนย์เอราวัณ 162.825 เมกะเฮิร์ท และศูนย์นเรนทรที่คลื่น 154.925 เมกกะเฮิร์ท เสริมกับระบบโทรศัพท์ที่มีอยู่ สำรองไว้กรณีที่ระบบโทรศัพท์ปกติไม่สามารถใช้การได้ ซึ่งจะทำให้หน่วยแพทย์รับทราบข้อมูลได้เร็วขึ้น นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนในพื้นที่จะได้รับข่าวสารสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา จึงขอให้ประชาชนใช้ความอดทน และประเมินสถานการณ์ เลือกดูข่าวสาร ไม่หมกมุ่นจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นและสะสม รวมทั้งให้พูดคุยกับคนใกล้ชิดเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันวิธีการปรับตัว และระบายความเครียด โดยกรมสุขภาพจิตได้ให้ศูนย์สุขภาพจิตที่ 13 กทม. เป็นแกนนำในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดูแลสุขภาพจิตประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นต้นมา กรมสุขภาพจิตได้ส่งทีมเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ ในครอบผู้เสียชีวิต 14 ครอบครัว ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ 103 ราย และเยียวยาผู้ที่อยู่ในชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ความรุนแรง 6 ชุมชน จำนวน 148 ครอบครัว ****************************** 17 พฤษภาคม 2553


   
   


View 15    17/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ