สธ.พร้อมดูแลค่ารักษาทั้งรัฐ เอกชน คาดใช้แล้วประมาณ 15-20 ล้านบาท และติดตามเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ

                วันนี้ (20 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงว่า ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์กระชับวงล้อมขอคืนพื้นที่จากผู้ชุมนุมวานนี้ (19 พฤษภาคม 2553) ณ เวลา 08.00 น. มีผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 133 ราย ในจำนวนนี้อยู่ในเขตกทม. 93 ราย และต่างจังหวัด 7 จังหวัด รวม 40 ราย โดยผู้บาดเจ็บในส่วนของกรุงเทพมหานคร กระจายรักษาตัวในโรงพยาบาล 14 แห่ง เป็นโรงพยาบาลรัฐบาล 7 แห่ง และเอกชน 7 แห่ง มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย อยู่ในกทม. 7 ราย เป็นทหาร 1 นาย นักข่าวชาวอิตาลี 1 ราย พลเรือน 5 ราย โดยอยู่ที่รพ.ตำรวจ รพ.รามาธิบดีแห่งละ 2 ราย รพ.ราชวิถี รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.เปาโล แห่งละ 1 ราย และที่จังหวัดขอนแก่นเป็นพลเรือน 1 ราย นอกจากนี้ ได้รับรายงานเบื้องต้นพบผู้เสียชีวิตที่วัดปทุมวนาราม 6 ราย เป็นหญิง 1 ราย และชาย 5 ราย อยู่ระหว่างรอผลการชันสูตรยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตจากโรงพยาบาลตำรวจ   
                     
          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลจะรับผิดชอบดูแลค่ารักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทั้งหมด ส่วนค่ารักษาที่เกินสิทธิกระทรวงสาธารณสุขจะชดเชยให้กับสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่ดูแล คาดว่าที่ผ่านมาค่ารักษาพยาบาลใช้ไปแล้วประมาณ 15-20 ล้านบาท โดยขณะนี้ ได้ให้ทุกจังหวัดเฝ้าระวังสถานการณ์ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีล่อแหลมต่อสถานการณ์ความไม่สงบ และให้ผู้ตรวจราชการแต่ละเขต ดูแล กำกับ สั่งการด้วยตนเองอย่างใกล้ชิด และรายงานสถานการณ์มายังศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินฯ 
                        
          สิ่งที่จะดำเนินการต่อไปคือการเยียวยาทางสุขภาพจิต ซึ่งขณะนี้พบว่าระดับอารมณ์ความรู้สึกต่อสถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงแตกต่างกัน โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือภาคกลางซึ่งอยู่ใกล้กับจุดเกิดเหตุสูงถึงร้อยละ 41.9 รองลงมาคือกทม.ร้อยละ 32.32 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 32 ภาคเหนือร้อยละ 23 และภาคใต้ร้อยละ 11 โดยกรมสุขภาพจิตได้เริ่มเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งรายบุคคล ครอบครัว และชุมชนแล้ว
                   
 
          ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปฏิกิริยาทางอารมณ์ของคนที่อยู่ในภาวะไม่ปกติจะแตกต่างกัน ผู้ที่มีปฏิกิริยารุนแรงมีความเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ในอนาคต อาการทั่วไปที่พบ ได้แก่ ตื่นตกใจ หวาดกลัว ผวา นอนไม่หลับ อารมณ์หดหู่ เศร้า เสียใจ ซึ่งเป็นอาการปกติที่เกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ แต่หากทิ้งไว้โดยไม่เยียวยาจะมีโอกาสพัฒนาไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เป็นโรคเครียดรุนแรงหลังเหตุสะเทือนขวัญ หรือโรคพีทีเอสดี (PTSD : Post Traumatic Stress Disorder)ซึ่งประชาชนส่วนหนึ่งจะมีการปรับตัวได้ดี หากได้รับการช่วยเหลือดูแลจะกลับเป็นปกติได้ภายใน 1-3 เดือน
 
          ในการดูแลสุขภาพจิตตนเองเบื้องต้นขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติดังนี้ 1. สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้ตนเอง ส่วนผู้ที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ให้ครอบครัว ญาติมิตรให้การช่วยเหลือ 2. ทำจิตใจให้สงบ เบนความสนใจไปเรื่องอื่นแทนเรื่องที่ทำให้เครียด 3.ไม่ควรอยู่โดดเดี่ยว ให้หาเพื่อนคุยปรับทุกข์ร่วมกัน 4. สร้างความหวังว่าอนาคตจะต้องดีขึ้น และยังมีสิ่งที่ดีอยู่ท่ามกลางสิ่งเลวร้าย และ 5.ดึงพลังใจของตนเอง ครอบครัว และชุมชนมาใช้ในการปรับตัว       
********************************** 20 พฤษภาคม 2553
 


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ