นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยเกี่ยวกับมาตรการพัฒนาสมุนไพรของไทยว่า สมุนไพรไทยได้รับการยอมรับว่ามีคุณภาพดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ หากมีการใช้โดยไม่มีระบบการจัดการที่รอบคอบ อาจสูญพันธุ์ได้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 เพื่อคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดสมุนไพร ดำเนินการใน 3 ลักษณะ คือ1.การคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ตำรับยาแผนไทยและตำราการแพทย์แผนไทย 2.คุ้มครองสมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย ทางเศรษฐกิจและอาจจะสูญพันธุ์ และ3.คุ้มครองบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่อยู่ในและนอกพื้นที่เขตอนุรักษ์ และที่ดินเอกชน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สำหรับการคุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์นั้น กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสำนักงานนายทะเบียนจังหวัดและชุมชน คุ้มครองสมุนไพรและบริเวณถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีในระบบนิเวศ ซึ่งมีอยู่ตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพ หรืออาจได้รับผลกระทบได้ง่ายจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ ห้ามไม่ให้ใครยึดครอง ปลูกหรือก่อสร้างสิ่งหนึ่งสิ่งใด หรือตัด โค่น แผ้วถาง เผา หรือทำลายต้นไม้ ซึ่งก่อให้เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไป เว้นแต่ได้รับอนุญาต
สำหรับปีงบประมาณ 2553 นี้ ได้ทำแผนจัดการเพื่อคุ้มครองสมุนไพรในเขตพื้นที่อนุรักษ์ พ.ศ.2553-2555 คุ้มครองสมุนไพรในเขตอนุรักษ์จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ 1.พื้นที่ป่าชุมชนบ้านหัวทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่จำนวน 6,000 ไร่ 2.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าซับลังกา อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี พื้นที่เกือบ 1 แสนไร่ 3.เขตอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี ประมาณ 4 แสนไร่ และ 4.พื้นที่ป่าเขาสลัดได อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมาพื้นที่ 7,000 ไร่ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก รวมเป็นเงิน 9 ล้านบาทเศษ โดยเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในเร็วๆนี้
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ปี 2551-2552 คณะรัฐมนตรี ได้ให้ความเห็นชอบประกาศเขตคุ้มครองสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ภูผากูด จังหวัดมุกดาหาร เป็นแห่งแรก เมื่อ 2 มกราคม 2551 ดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2551-2553 ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.หนองสูง และอ.คำชะอี จำนวน 22 หมู่บ้าน โดยได้สำรวจและขึ้นบัญชีสมุนไพรที่พบทั้งหมด 322 ชนิด และได้จัดพิมพ์หนังสือสถานภาพของสมุนไพรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ดังกล่าว ซึ่งจะมีการติดตามการเปลี่ยนของสมุนไพรบริเวณนั้นและนำมาศึกษาวิจัยทางวิชาการเพื่อการพัฒนาต่อยอดในการใช้เป็นยาหรือประโยชน์ทางการแพทย์ และในปีเดียวกัน ได้ขยายเขตการคุ้มครองเพิ่มอีก 11จังหวัด ได้แก่เชียงใหม่ พิษณุโลก กำแพงเพชร นครพนม อุดรธานี นครราชสีมา อุบลราชธานี สระแก้ว ลพบุรี สตูลและระนอง ครอบคลุมพื้นที่ 3 ล้านกว่าไร่ ส่วนในปีงบประมาณ 2552 ได้ขยายเพิ่มอีก 13 แห่งได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง แพร่ สุโขทัย กระบี่ เชียงราย เลย มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ ชัยภูมิและปราจีนบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 3 ล้านกว่าไร่
******************* 23 พฤษภาคม 2553
View 14
23/05/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ