ป้องกันภาวะซึมเศร้า ใน 24 จังหวัดที่ประกาศพรก.ฉุกเฉิน เฉพาะกทม.มุ่งที่ 7 เขต 30 ชุมชน รวมทั้งดูแลป้องกัน/ควบคุมโรค ลดผลกระทบมลพิษสิ่งแวดล้อม
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขว่า ในการเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา ในภาพรวมรัฐบาลได้กำหนดไว้ 3 แนวทาง คือ 1. การบังคับใช้กฎหมาย 2. จะให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ 3. การเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อนำไปสู่การสร้างสังคมสมานฉันท์ โดยในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะอยู่ในส่วนที่ 3 ที่จะเข้าไปดูแลรับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนเยียวยาและฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบเสร็จสิ้นแล้ว จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมตามลำดับชั้น จนถึงขั้นตอนให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป
สำหรับแผนหลักใหญ่ๆมี 2 ส่วน ประกอบด้วย แผนฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิต โดยจะทำควบคู่กันไป กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนคือ ระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นจะเน้นกลุ่มที่ผู้บาดเจ็บและครอบครัวของผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวของผู้เสียชีวิต รวมทั้งครอบครัวของผู้ที่มาร่วมชุมนุม และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมด้วย ซึ่งได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 24 จังหวัดที่ประกาศ พรก.ฉุกเฉิน เฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ได้มีการกำหนดเป้าหมายไว้คร่าวๆ 7 เขต ได้แก่ ปทุมวัน บางรัก คลองเตย วัฒนา ราชเทวี ดินแดง และสาทร รวมประมาณ 30 ชุมชน ถัดจากนี้ไปกระทรวงสาธารณสุข จะระดมทั้งทีมแพทย์สุขภาพกายและสุขภาพจิต เข้าไปในแต่ละชุมชนเพื่อฟื้นฟูตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้ เพื่อลดภาวะความเครียด ป้องกันการเกิดปัญหาซึมเศร้า เพราะหากมีอาการซึมเศร้ามาก อาจจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ รวมทั้งช่วยลดระดับความรุนแรงของสภาพอารมณ์ต่างๆ ตามหลักแนวทางทางการแพทย์ด้วย
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ในการดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพของประชาชนครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์เจ้าหน้าที่ออกไปให้การดูแลในแต่ละพื้นที่ จำนวน 4 ทีม ได้แก่1.ทีมจากกรมการแพทย์ทีมโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขดูแลด้านการตรวจรักษา 2. ทีมกรมควบคุมโรคเข้าไปดูแลการป้องกันและควบคุมโรค 3. ทีมกรมอนามัย จะเข้าไปดูแลเรื่องอนามัยสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางด้านกลิ่น ผลกระทบทางด้านมลพิษในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา 4. ทีมกรมสุขภาพจิต โดยกระทรวงสาธารณสุขจะทำงานร่วมกับกทม. แบบบูรณาการ เนื่องจากในเขตพื้นที่ชุมนุมในกทม.มีหลายเขต มีหลายชุมชนที่ได้รับผลกระทบ และจะรายงานแผนดำเนินการที่ปรับแล้วให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้พิจารณา
ทั้งนี้จะขอให้ทีมที่เข้าไปในพื้นที่ต่างๆ ให้รายงานผลความก้าวหน้าที่ประชุมกระทรวงฯ ทุกสัปดาห์ และให้ประเมินสภาพข้อเท็จจริง และประเมินการเปลี่ยนแปลงสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบ เป็นระยะๆ เช่น 2,3,6 เดือน ซึ่งในระยะสั้นจะเน้นไปที่ผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวเป็นหลัก ระยะยาวจะเน้นที่ชุมชน ซึ่งในวันนี้จะนำทีมทั้ง 4 ทีม เข้าไปเยี่ยมชุมชนหลังวัดปทุมวนาราม
*************************************** 24 พฤษภาคม 2553