นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 31 พฤษภาคม ทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ประเทศไทยใช้เวลารณรงค์มายาวนานพอสมควร ในอนาคตหวังจะลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ลงเรื่อยๆ ขณะนี้เป้าหมายสำคัญของบริษัทบุหรี่คือผู้หญิงโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งค่าตัวเลขในประเทศไทยสูงขึ้นเรื่อยๆ เป็นจุดที่เรารู้เท่าทันตลาดบุหรี่   จึงได้มีการรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยไม่ตกเป็นทาสบุหรี่ ภายใต้คำขวัญการรณรงค์ประจำปี 2553 คือหญิงไทยฉลาดไม่เป็นทาสตลาดบุหรี่ (Gender and tobacco with an emphasis on marketing to women) จริงๆแล้วไม่ใช่เฉพาะผู้หญิง แต่เป็นทุกคน บุหรี่นอกจากจะเป็นโทษกับตัวผู้สูบเองแล้ว ยังเป็นโทษกับคนรอบข้างโดยเฉพาะคนที่เรารัก ถ้าเลิกได้ก็อยากให้เลิก

                                  

                นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 เรื่องกำหนดชื่อหรือประเภทของสถานที่สาธารณะที่ให้มีการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ได้จัดแบ่งพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ชัดเจนดังนี้ 1.ห้ามสูบ 100 เปอร์เซ็นต์ มี 5 ประเภท ได้แก่ ศาสนสถาน สถานบริการสาธารณสุข สถานศึกษา สถานที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน และยานพาหนะ และสถานีขนส่งสาธารณะ 2 .ให้สูบได้แต่ภายนอกอาคาร เช่น สถานที่ราชการ สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และสถานศึกษาอุดมศึกษา และ3. อนุญาตให้สูบในอาคารได้ ขณะนี้เหลือที่เดียวในประเทศไทยคือสนามบินสุวรรรณภูมิเฉพาะในส่วนต่างประเทศ โดยสูบในห้องที่จัดให้ ในอนาคตอันใกล้ มีแนวโน้มจะยกเลิก กฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้วันที่ 28 มิถุนายน 2553   เมื่อบังคับใช้ไปแล้วระยะหนึ่งก็จะออกประกาศอีกฉบับหนึ่ง แม้จะสูบในห้องก็ต้องยกเลิก เนื่องจากขณะนี้สนามบินหลายแห่งในโลก ได้มีการยกเลิกแล้ว
                                    
          นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปพบแพทย์หญิงมาร์การ์เร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวชมประเทศไทยว่าเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้ผล และหลายประเทศในโลกนำไทยไปเป็นต้นแบบถือเป็นความสำเร็จที่ได้รับการยกย่องจากองค์การอนามัยโลก
          นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีบุหรี่วางขายตามสวนจตุจักร สะพานพุทธ และสยามสแควร์ว่า เป็นบุหรี่ลักลอบนำเข้าและไม่มีภาพคำเตือน ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะเข้าไปร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในการดำเนินการ เพราะถือว่าผิดกฎหมาย ทั้งกฎหมายสรรพสามิตเรื่องการลักลอบนำเข้าและผิดกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพ.ศ.2535 ที่ไม่การแจ้งส่วนประกอบ ไม่มีภาพคำเตือน ถ้าจับได้จะมีความผิดหลายกระทง มีโทษปรับเป็นส่วนใหญ่ เช่น ไม่มีคำเตือนปรับไม่เกิน 20,000 บาท ถ้าลักลอบนำเข้าปรับไม่เกิน 100,000 บาท เป็นเรื่องที่ต้องบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับการรณรงค์ และเป็นปัญหาสังคม จะแก้ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งยากจะสำเร็จ แต่ประการสำคัญจับเท่าใดก็จับไม่หมด หากยังมีผู้สูบอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อลดอุปทานแล้วจะต้องลดที่อุปสงค์หรือความต้องการสูบด้วยการรณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ด้วย และได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคติดตามดำเนินการแล้ว        
 ******************   24 พฤษภาคม 2553


   
   


View 13    24/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ