กระทรวงสาธารณสุข รณรงค์ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางศาสนา หากพบจับปรับทันที โดยในวันที่ 1 มิถุนายน 2553 จะร่วมกับเครือข่ายองค์กรงดเหล้าทั่วประเทศ รวบรวมหลักฐานการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดที่ผิดกฎหมายของบริษัท ห้าง ร้าน ทั่วประเทศ ส่งตำรวจเพื่อฟ้องศาลลงโทษตามกฎหมาย ผลสำรวจล่าสุดในปี 2550 พบวัยรุ่นใน 10 จังหวัดภาคเหนือ อีสาน ครองแชมป์นักดื่มสูงสุดในประเทศ
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2553) ที่ซอยอารีย์ ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ เปิดรณรงค์สร้างจิตสำนึกร้านค้า ประชาชน ไม่ขาย ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องในวันวิสาขบูชาโลกวันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม 2553 เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขวันที่ 30 มิถุนายน 2552 ที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในวันสำคัญทางศาสนา 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา และวันเข้าพรรษา ขณะนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังผู้กระทำผิดกฎหมายร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขัดต่อหลักศีลธรรมในพุทธศาสนา และนำมาซึ่งปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น อุบัติเหตุจราจร ทำให้เสียชีวิตหรือทำให้พิการ ส่งผลเสียต่อสุขภาพทำให้เป็นมะเร็งตับ โรคตับแข็ง เกิดการทะเลาะวิวาทในครอบครัว
ในการควบคุมปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุขจะใช้วิธีรณรงค์สร้างจิตสำนึกประชาชนให้งด ลด ละการดื่ม และการบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทผลิต ผู้ประกอบการค้าขายควบคู่กัน โดยกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมกับองค์กรงดเหล้าทั่วประเทศ ดำเนินการเอาโทษกับบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่โฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย ทั้งป้ายโฆษณากลางแจ้ง ป้ายไวนิล ธงราว ธงญี่ปุ่น ป้ายหน้าร้านอาหารทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งการโฆษณาทางทีวี อินเตอร์เน็ต ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทเบียร์ โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค จะรวบรวมหลักฐานการกระทำผิด ส่งตำรวจพร้อมกันในวันที่ 1 มิถุนายน 2553 เพื่อส่งฟ้องศาลต่อไป
ทั้งนี้จากการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ล่าสุดในกลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่มีจำนวน 51 ล้านกว่าคน ล่าสุดในปี 2550 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกือบ 15 ล้านคน หรือร้อยละ 29 ของประชากร จังหวัดที่มีความชุกของนักดื่มสูงสุด 10 อันดับแรกของประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ ได้แก่ พะเยามีนักดื่มร้อยละ 54 รองลงมาได้แก่ แพร่ร้อยละ 50 เชียงรายร้อยละ 48 น่านร้อยละ 44 หนองบัวลำภูร้อยละ 43 มุกดาหารร้อยละ 42.6 ขอนแก่นร้อยละ 42 พิษณุโลกร้อยละ 41 เพชรบูรณ์ร้อยละ 40 และกำแพงเพชร ร้อยละ 39.8
ส่วนในกลุ่มประชากรอายุ 15-19 ปี พบว่าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนกว่า 6 แสนคน 10 จังหวัดที่มีนักดื่มมากที่สุดได้แก่ มุกดาหารร้อยละ 34.2 เชียงรายร้อยละ 27.7 เลยร้อยละ 25.3 อำนาจเจริญร้อยละ 25.1 หนองบัวลำภูร้อยละ 24.2 กำแพงเพชรร้อยละ 24 แพร่ร้อยละ 23.4 พะเยาร้อยละ 23.1 พิษณุโลกร้อยละ 22.6 และยโสธรร้อยละ 22.2
****************** 26 พฤษภาคม 2553