วันนี้ (26 พฤษภาคม 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เรวัต วิศรุตเวช อธิบดีกรมการแพทย์ศ.เกียรติคุณ นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่   นายแพทย์เฮนรี่ แบ็กเก็ตต์ (Dr.Henry (Kip) Baggett) ศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข เปิดการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประจำปีและไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ” ครั้งที่ 1

นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการระดมแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ในทุกสังกัดทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดใหญ่ 2009 เพื่อนำความคิดเห็นจากที่ประชุมไปสู่การกำหนดนโยบายเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยและลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ประจำปีและไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้ได้
  
สถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ของปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2552 ดูเหมือนว่าจะลดลง แต่ยังไม่น่าไว้วางใจ ในปี 2552 ที่เริ่มมีการระบาด ช่วงเดือนพฤษภาคม-ธันวาคม มีผู้ป่วย 30,336 ราย เสียชีวิต 196 ราย แต่ในปี 2553 ตั้งแต่มกราคม-พฤษภาคม พบผู้ป่วย 6,625 ราย เสียชีวิต 33 ราย แม้จะมีนโยบายในการป้องกันที่มีความชัดเจน เช่น การรณรงค์ให้ประชาชน กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัยเมื่อเป็นหวัด รวมทั้งรณรงค์ฉีดวัคซีนจำนวน 2 ล้านโดสใน 9 กลุ่มเสี่ยง ขณะนี้ฉีดไปแล้วประมาณร้อยละ 60 ส่วนมาตรการรักษา มีการประชุมติดตามสถานการณ์ทุกสัปดาห์ และมีนโยบายชัดเจน ได้สั่งการผ่านปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้ตรวจราชการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กำชับให้โรงพยาบาลทุกสังกัด ให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ป่วยไข้หวัดทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจทางห้องปฎิบัติการ
  
นายจุรินทร์ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อดูสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ในปี 2553 ซึ่งมีจำนวน 33 ราย พบว่าแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มที่ได้รับยาต้านไวรัสแล้วแต่เสียชีวิตมีจำนวน 29 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านไวรัสช้าไม่ทันเกณฑ์ที่กำหนดคือ 4 วันหลังมีอาการ เนื่องจากมาพบแพทย์ช้า 8 ราย และการวินิจฉัยยืนยันโรคช้าอีก 5 ราย ส่วนที่เหลืออีก 16 ราย เป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาภายใน 4 วันหลังติดเชื้อ แต่ก็เสียชีวิตเนื่องจากมีโรคแทรกซ้อนและอยู่ในกลุ่มเสี่ยง 2.กลุ่มที่ไม่ได้รับยา สาเหตุจากมาพบแพทย์ช้า อาการหนักแล้ว จำนวน 4 ราย 
  
“สรุปแล้ว สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นที่พบมาจาก 2 ส่วนคือ 1. มาจากตัวผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ช้า                 2. ประสิทธิภาพในการรักษา คือวินิจฉัยช้าและให้ยาต้านไวรัสช้าเป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงต้องระดมความคิด เพื่อหาแนวทางในการป้องกันแก้ไขสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร ถ้าปัญหาในการมาพบแพทย์ช้าไม่มี การวินิจฉัยของแพทย์ตรงแม่นยำ และการให้ยาทันเวลา ถ้ามาตรการครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ จะลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ 50 ”  นายจุรินทร์กล่าว
   ********************************************     26 พฤษภาคม 2553


   
   


View 12    26/05/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ