กำชับ สสจ.ทั่วประเทศ สุ่มตรวจโรงงาน หากพบกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมาย และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค
เช้าวันนี้ (27 พฤษภาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และพล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) แถลงข่าวการจับกุมโรงงานผลิตน้ำปลาปลอม ที่จังหวัดสิงห์บุรี
นายจุรินทร์กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี นำหมายศาลจังหวัดสิงห์บุรี เข้าตรวจค้นโรงงานผลิตน้ำปลาบุญเทือง ตั้งอยู่เลขที่ 39/1 หมู่ 4 ตำบลอินทร์บุรี อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งผลิตน้ำปลาผสม 3 ตรา ได้แก่ ตราสามแมงดา ตราดีเด่น และตราปลาไส้ตันคู่ระยอง พบเครื่องจักร 32 แรงม้า คนงาน 10 คน ผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน จึงได้ดำเนินการยึดอายัดน้ำปลาของกลางมูลค่าประมาณ 7 ล้านบาท อายัดเครื่องจักรไว้ และเก็บตัวอย่างน้ำปลาสูตรต่างๆ เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานและสิ่งเจือปนที่เป็นอันตรายต่อไป
สำหรับโทษที่ปรากฏมีดังนี้ 1.ผลิตอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.การผลิตโดยไม่ผ่านหลักเกณฑ์จีเอ็มพี มีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท และ3.หากพบว่าเข้าข่ายอาหารปลอมเนื่องจากไม่ผ่านมาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ คือน้ำปลาผสมต้องมีปริมาณไนโตรเจนซึ่งเป็นตัวโปรตีนที่สะท้อนคุณภาพน้ำปลา มากกว่า 4 กรัมต่อลิตร แต่หากวิเคราะห์ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารขาดหรือเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 30 อาจเข้าข่ายผลิตอาหารปลอมมีโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000 บาทถึง 100,000 บาท ซึ่งน้ำปลาของโรงงานแห่งนี้พบมีปริมาณไนโตรเจนเพียง 0.7 กรัมต่อลิตร
นอกจากนี้ ยังพบผงสีขาวซึ่งทางโรงงานบอกว่าเป็นผงชูรส ได้ส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจพิสูจน์ คาดว่าจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ ในส่วนสารกันบูดที่ส่วนมากในน้ำปลาปลอมจะพบเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ คือ 1,000 มิลลิกรัมต่อ 1 กิโลกรัม ก็จะตรวจวิเคราะห์ต่อไป ซึ่งสารกันบูดนี้ในระยะยาวจะเป็นอันตรายต่อไต
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ที่ต้องดำเนินการกับโรงงานนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสิงห์บุรี ได้ดำเนินการกับโรงงานนี้มาแล้ว 8 ครั้งแต่ก็ยังกระทำผิดต่อ ครั้งนี้ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจึงได้สั่งปิดโรงงานจนกว่าจะปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน ในส่วนของตำรวจยังพิจารณาความผิดข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตมีโทษจำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และได้กำชับให้อย. ผู้ตรวจราชการ และสาธารณสุขจังหวัด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสุ่มตรวจโรงงานผลิตน้ำปลาทั่วประเทศ หากพบการกระทำผิดให้ดำเนินการตามกฎหมาย และเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ เพื่อเป็นการคุ้มครองสุขภาพประชาชน
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ในการสุ่มตรวจโรงงานน้ำปลาทั่วประเทศ อย.มีหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ดำเนินการเฝ้าระวัง สุ่มตรวจอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และได้ดำเนินการทางกฎหมายกับโรงงานที่กระทำผิด ทั้งนี้หากประชาชนพบเห็นอาหารหรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สงสัยว่าอาจไม่ได้คุณภาพ หรือโฆษณาเกินจริง ขอให้แจ้งสายด่วน อย. โทร 1556 หรือ 1556@fda.moph.go.th หรือตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือที่ บก.ปคบ. ตู้ปณ.459 ปณศ. สามเสนใน พญาไท กทม.10400 เพื่อ อย.และ บก.ปคบ.จะดำเนินการตรวจสอบและลงโทษสถานหนักแก่ผู้กระทำผิดกฎหมายต่อไป
******************************** 27 พฤษภาคม 2553