พบครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งที่ชุมนุมโดยตรงและไม่ได้ร่วมชุมนุม เครียดร้อยละ 80 ส่วนครอบครัวผู้บาดเจ็บเครียดลดลงเหลือร้อยละ 20
วันนี้ (31พฤษภาคม 2553) ที่ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดประชุมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในสังกัดทุกระดับที่อยู่ 23 จังหวัดรวมทั้งกทม.ที่ประกาศในพรก.ฉุกเฉิน รวมจำนวน 500 คน เพื่อให้การเยียวยาทางจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองในทิศทางเดียวกันทั่วประเทศ
นายจุรินทร์กล่าวว่า สถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 12 มีนาคม 2553 –วันที่ 29 พฤษภาคม 2553 มีผู้บาดเจ็บ 1,902 ราย เสียชีวิต 88 ราย มีสมาชิกในครอบครัวของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่ได้รับกระทบโดยตรงประมาณ 4,500 คน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งในต่างจังหวัด 23 จังหวัด และกทม. โดยเฉพาะกทม.มีทั้งหมด 10 เขต ใน 45 ชุมชน
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า รัฐบาลได้กำหนดแนวทางการเยียวยาและฟื้นฟู 3 แนวทาง แนวทางแรกได้แก่การเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ได้คำตอบว่าเป็นสังคมนิติรัฐ ผู้กระทำผิดต้องได้รับโทษ แนวทางที่ 2 เร่งรัดเยียวยาทางเศรษฐกิจ และแนวทางที่ 3 คือการเยียวยาด้านสังคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลักรับผิดชอบให้สำเร็จตามเป้าของรัฐบาล โดยเฉพาะการฟื้นฟูสภาพทั้งกายและใจของผู้ได้รับผลกระทบ
ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขนั้นได้ดำเนินการเยียวยามาก่อนหน้านี้แล้ว โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในภาวะฉุกเฉินระดับชาติ มีสถานพยาบาลทุกสังกัดรวมทั้งสภากาชาดไทย มูลนิธิต่างๆเข้าร่วมดำเนินการช่วยผู้บาดเจ็บโดยไม่เลือกฝ่าย ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน รัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ส่วนด้านจิตใจ มีศูนย์ดูแลด้านจิตใจมีหน่วยงานต่างๆมาร่วมดำเนินการ ซึ่งได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการดูแลฟื้นฟูจิตใจในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีนายแพทย์เสรี หงษ์หยก รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ในการประชุมครม.ครั้งหน้า จะของบกลางให้ได้ครบ 30 ล้านบาทตามแผน เพื่อให้งานบรรลุวัตถุประสงค์ดียิ่งขึ้น
ในส่วนของกทม.ได้รับการเยียวยาไปแล้ว 13 ชุมชน พบว่าได้รับการตอบรับดี ประชาชนดีใจที่มีทีมแพทย์ลงไปดูแลทั้งกายและสุขภาพจิต ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังรู้สึกเครียดและกังวลสถานการณ์ในอนาคตว่าจะยุติได้มากน้อยแค่ไหน เป็นหน้าที่ของทีมเยียวยาที่จะเข้าไปให้การดูแลช่วยเหลือ ยังเหลืออีก 32 ชุมชน ก็จะเร่งรัดดำเนินการร่วมกับกทม.ต่อไป โดยจะร่วมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ส่วนต่างจังหวัดจะเริ่มลงปฏิบัติการพร้อมกันตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2553 เป็นต้นไป
นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า ผลการประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นในกลุ่มของครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งที่ชุมนุมโดยตรงและไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วยแต่เสียชีวิตใน กทม. พบว่ายังมีความเครียดอยู่ร้อยละ 80 ส่วนครอบครัวผู้บาดเจ็บลดระดับลงเหลือร้อยละ 20 โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเน้นการเฝ้าระวังปัญหาอาการซึมเศร้า ซึ่งเกิดจากการสะสมความเครียดนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ หากพบจะได้เร่งแก้ไขโดยเร็ว ในต่างจังหวัดจะได้มีการประเมินตัวเลขที่แท้จริงต่อไป
สำหรับแผนเยียวยาจะมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นจะเน้นที่ตัวผู้บาดเจ็บและครอบครัว และครอบครัวของผู้เสียชีวิต ในระยะยาวจะเน้นการเยียวยาในระดับชุมชนและสังคมเพื่อลดความขัดแย้ง ให้รายงานผลในที่ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทุกวันจันทร์
******************************* 31 พฤษภาคม 2553