กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศเตือนประชาชนให้ระมัดระวังโรคติดต่อที่มาพร้อมฝน 15 โรคสำคัญ เช่นโรคท้องร่วง โรคฉี่หนู ปอดบวม ไข้เลือดออก มาลาเรีย เผยเดือนพฤษภาคมทั่วประเทศพบป่วยเกือบ 7 หมื่นราย เสียชีวิตแล้ว 45 ราย จากโรคปอดบวม อุจจาระร่วง ไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก ให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาโรคใกล้ชิดตั้งแต่เดือนนี้ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2553
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้โรคหลายชนิดสามารถแพร่ระบาดได้ง่ายและรวดเร็ว ที่สำคัญเช่น ไข้เลือดออก โรคฉี่หนูไข้หวัดใหญ่ ไข้มาลาเรีย โรคไข้สมองอักเสบเจอี โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดนกเป็นต้น ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง จับตาเป็นพิเศษตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2553เป็นช่วง 90วันอันตรายให้แพทย์ตรวจคัดกรองผู้ป่วยโดยละเอียด โดยโรคที่ต้องติดตามต่อเนื่อง 2โรคคือโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่ที่ขณะนี้พบการระบาดในประเทศและโรคไข้หวัดนกที่แพร่ระบาดมาจากสัตว์ปีกซึ่งไม่พบการติดเชื้อในคนมาเป็นเวลาเกือบ 4ปี แต่ประมาทไม่ได้เพราะหากมีโรคนี้เกิดขึ้นในฤดูฝนเชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝนจัดส่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันไม่ให้ป่วย โดยมี 5กลุ่มรวม 15โรค ได้แก่ 1.กลุ่มโรคติดต่อทางน้ำและอาหาร ที่พบบ่อย ได้แก่โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ตับอักเสบสาเหตุเกิดจากกินอาหาร ดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือกินอาหารสุกๆ ดิบๆ
2.กลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ที่พบบ่อยได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบหลอดลมอักเสบ และโรคปอดบวม โดยเฉพาะโรคปอดบวมนั้นมีอันตรายอาจถึงชีวิตได้ อาการเริ่มจากไข้ ไอ หายใจเร็วหรือหอบเหนื่อย 3.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง ที่พบบ่อยคือ โรคเลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู อาการเด่นๆของโรคนี้คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะมักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง
4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุงที่สำคัญ 3โรค ได้แก่ ไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ 80เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านไข้สมองอักเสบ เจ อี (Japanese Encephalitis)มียุงรำคาญซึ่งมักแพร่พันธุ์ตามแหล่งน้ำในทุ่งนาเป็นตัวนำโรค และโรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค ทั้ง 3โรคนี้ อาการเริ่มจากมีไข้สูงปวดศีรษะมาก คลื่นไส้อาเจียน โดยเฉพาะโรคไข้สมองอักเสบ อาจทำให้พิการภายหลังได้ และ5.กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดงซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา
นอกจากนี้ ยังมีโรคน้ำกัดเท้า ที่เกิดจากเชื้อรา ซึ่งเกิดจากการเดินลุยน้ำสกปรกนานๆ หรือต้องแช่น้ำ เดินลุยน้ำท่วมขังในช่วงที่มีฝนตกหนัก ถูกสัตว์มีพิษกัด ต่อย เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำท่วมมาอาศัยในบ้านเรือน และโรคอาหารเป็นพิษจากกินเห็ดพิษที่ขึ้นเองตามธรรมชาติในป่า ในสวน ซึ่งพบในช่วงฤดูฝนทุกปี
ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตลอดเดือนพฤษภาคม 2553พบผู้ป่วยด้วยโรคฤดูฝนแล้ว 68,217 ราย เสียชีวิต 45 ราย จากปอดบวม 35 ราย อุจจาระร่วง 5 ราย ไข้หวัดใหญ่ 2 ราย เลปโตสไปโรซิส 2 ราย ไข้เลือดออก 1 ราย สรุปตั้งแต่มกราคม 2553 – พฤษภาคม 2553 พบผู้ป่วยทั้ง 15 โรครวม 704,792 ราย เสียชีวิต 495 ราย
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าอาการนำของโรคติดเชื้อที่เป็นลักษณะเด่นหลักๆ คือ อาการไข้ ดังนั้นในช่วงนี้หากมีไข้สูงและเช็ดตัวหรือกินยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือไข้ยังไม่ลดภายใน 3วันแนะนำว่าควรไปพบแพทย์ ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกกับโรคโดยเฉพาะถ้าเป็นกับเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวควรไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือแพทย์ทันทีห้ามกินยาจำพวกแอสไพรินเด็ดขาด โดยเฉพาะไข้เลือดออกไข้หวัดใหญ่ และโรคไข้ฉี่หนู ซึ่งจะมีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆในร่างกายอยู่แล้ว หากกินยาแอสไพรินซึ่งมีสารป้องกันเลือดแข็งตัวเข้าไปอีกจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น โอกาสเสี่ยงเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคในฤดูฝน ขอให้ประชาชนออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคสวมเสื้อผ้ารักษาความอบอุ่นแก่ร่างกาย โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ ควรดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศเย็น มีความชื้นสูงจะทำให้ร่างกายที่มีระดับภูมิต้านทานโรคต่ำกว่าคนวัยอื่นๆ อยู่แล้วต่ำลงไปอีก มีโอกาสติดเชื้อโรคทางเดินหายใจได้ง่าย ควรดื่มน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุกรับประทานอาหารที่สะอาดปรุงสุกใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอมล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง และถ่ายอุจจาระลงส้วมหากในช่วงที่มีน้ำท่วมขังและส้วมใช้การไม่ได้ ห้ามถ่ายอุจจาระลงน้ำขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่นแล้วนำไปฝังกลบ จัดการให้ถูกสุขลักษณะ
นอกจากนี้ ควรตรวจดูโอ่งน้ำหรือภาชนะเก็บน้ำอื่นให้มีฝาปิดมิดชิดและเปลี่ยนน้ำจานรองขาตู้ แจกันไม้ประดับทุก 7วัน ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัวทำลายแหล่งที่มีน้ำขัง เช่น กะลา กระป๋อง ยางรถยนต์เก่าเพื่อไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ภายหลังเดินย่ำน้ำหรือเดินลุยน้ำแช่ขัง น้ำสกปรกทุกครั้งต้องล้างเท้าให้สะอาดแล้วเช็ดให้แห้งด้วยผ้าที่สะอาด อย่าปล่อยให้อับชื้นเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบู๊ทให้เป็นนิสัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่ชื้นแฉะที่มีการเลี้ยงสัตว์ และสัมผัสปัสสาวะสัตว์รวมทั้งดูแลบ้านเรือนและบริเวณบ้านให้สะอาดเป็นระเบียบไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์มีพิษ หรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์หนู แมลงวัน
************************************ 6 มิถุนายน 2553