วันนี้ (7 มิถุนายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการดูแลเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากการชุมนุมการเมือง ว่า ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งศูนย์เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจจากการชุมนุมทางการเมืองและอบรมพยาบาลจิตเวช จำนวน 500  คนเพื่อลงพื้นที่ทั่วประเทศ   

แผนงานที่จะดำเนินการต่อไปคือจัดอบรม อสม.ใน 42 จังหวัดรวมทั้ง กทม. เพื่อให้ดำเนินการ 2 เรื่องในการช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ โดยจะให้อสม.มีขีดความสามารถในการดูแลปฐมพยาบาลจิตใจเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับผลกระทบด้านจิตใจ และให้อสม.เข้าไปเป็นตัวหลักจัดกิจกรรมดูแลสร้างชุมชน ปรองดอง ในพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ ทำให้คนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ สังคมชุมชนเป้าหมายกลับสู่สภาวะปกติ โดยจะคัดเลือก อสม.เข้ารับการอบรม ในวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ครั้งแรก และจะให้ลงพื้นที่ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ควบคู่ไปกับการจัดศูนย์สุขภาพเคลื่อนที่ เพื่อดูแลควบคู่ทั้งสุขภาพกายและใจ ตั้งเป้าอย่างน้อยภายใน 3 เดือน ต้องลงไปให้บริการชุมชนละอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยภายใน 3 เดือน จะลดอารมณ์รุนแรงทางการเมือง ให้เหลือไม่เกินร้อยละ 20 ซึ่งขณะนี้มีประมาณร้อยละ 25 และภายใน 1 ปี จะลดลงให้เหลือไม่เกินร้อยละ 15
นายจุรินทร์กล่าวว่า มีผลสำรวจความรู้สึกผู้ได้รับผลกระทบจากชุมนุมทางการเมือง ของกรมสุขภาพจิต  เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ซึ่งเป็นช่วงมีการชุมนุม เปรียบเทียบกับวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงหลังการชุมนุม พบตัวเลขที่น่าสนใจ คือ 1.มีผู้ที่มีความรู้สึกว่าเบื่อหน่าย เมื่อ 28 เมษายนร้อยละ 56.9 แต่วันที่ 1 มิถุนายนลดลงเหลือร้อยละ 49.48 2. มีความรู้สึกสลดใจ เศร้าใจ เมื่อ 28 เมษายนร้อยละ 47.4 แต่วันที่ 1 มิถุนายนลดลงเหลือ ร้อยละ 41.94 3.มีความรู้สึกโกรธเกลียดโมโห เพิ่มจากร้อยละ 26.7 เป็นร้อยละ 41.94 และ 4.มีความรู้สึกสับสน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20.1 เป็นร้อยละ 34.32โดยตัวเลขความรู้สึกโกรธ เกลียด โมโห ที่เพิ่มขึ้นนั้น ในทางจิตวิทยาเป็นความรู้สึกในการโทษคนอื่น เนื่องจากช่วงของวันที่ 1 มิถุนายนเป็นช่วงหลังการสูญเสียใหม่ๆ เช่นอาคารสถานที่หลายแห่งถูกเผาทำลาย ตัวเลขความโกรธโมโหจึงเพิ่มขึ้น ส่วนความรู้สึกสับสน เป็นสิ่งที่พบได้หลังเหตุการณ์สงบใหม่ๆ ถือเป็นเรื่องปกติ
          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับผลการประเมินปัญหาสุขภาพจิตเบื้องต้นจากการเยี่ยมเยียวยากลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ ญาติผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้ที่เข้าร่วมชุมนุมที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ พบมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตคือเรื่องเครียดและโรคซึมเศร้า ดังนี้ 1.กลุ่มญาติผู้เสียชีวิต เสี่ยงร้อยละ 33.33 2.กลุ่มผู้บาดเจ็บเสี่ยงร้อยละ 11.22 3.กลุ่มผู้ร่วมชุนมุมเสี่ยงร้อยละ 16.75 และ4.กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า12 ปีซึ่งสำรวจเด็กในชุมชนที่มีการชุมนุม ในกทม. จำนวน 84 คน พบประมาณ 60 คนเสี่ยงร้อยละ 52.38 สาเหตุที่เด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพจิตสูง เนื่องจากเด็กยังไม่มีความสามารถในการปรับตัวเท่ากับผู้ใหญ่ ผลสำรวจนี้จะเป็นประโยชน์กับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการลงพื้นที่เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อไป                 
 
********************************* 7 มิถุนายน 2553


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ