บ่ายวันนี้(7 มิถุนายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์นรา นาควัฒนานุกุล อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แถลงข่าว การจัดงานสุขบัญญัติแห่งชาติ ประจำปี 2553 ว่า ทุกวันที่ 28 พฤษภาคมของทุกปี คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้เป็นวันสุขบัญญัติแห่งชาติ โดยสุขบัญญัติมี 10 ประการ ได้แก่ 1. การดูแลรักษาร่างกายและของใช้ให้สะอาด 2. รักษาฟันให้แข็งแรงและแปรงฟันทุกวันอย่างถูกต้อง 3. ล้างมือให้สะอาดก่อนกินอาหาร และหลังการขับถ่าย 4. กินอาหารสุก สะอาด ปราศจากสารอันตราย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด สีฉูดฉาด 5. งดบุหรี่ สุรา สารเสพติด การพนันและการสำส่อนทางเพศ 6. สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้อบอุ่น 7. ป้องกันอุบัติภัยด้วยการไม่ประมาท 8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพประจำปี 9. ทำจิตใจให้ร่าเริงแจ่มใสอยู่เสมอ และ 10. มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคมไทย
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจสุขภาวะเด็กไทยอายุ 6-15 ปี ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2553 พบว่าเด็กไทยส่วนใหญ่นิยมบริโภคอาหารที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพร่างกาย เช่น พบว่านิยมดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานสูงถึงร้อยละ 97.54 ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ในขณะเดียวกันก็นิยมรับประทานขนมกรุบกรอบสูงถึงร้อยละ 97.6 ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคลักษณะนี้ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคอ้วน นำไปสู่การเป็นโรคเรื้อรังต่อไปในอนาคตได้ เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ หลอดเลือด คณะรัฐมนตรีจึงมีมติตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2554 จะต้องทำให้เด็กมีพฤติกรรมการบริโภคหรือมีพฤติกรรมตามแนวสุขบัญญัติ กำหนดไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ซึ่งประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น มีหลายประการ อาทิ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ภูมิต้านทานโรค ช่วยให้เด็กไม่เจ็บป่วยได้ง่าย จะช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการเรียน จะช่วยให้เด็กเยาวชนมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ และช่วยให้เด็กอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุข
ทั้งนี้ ในวันที่ 10 มิถุนายน 2553 ที่จะถึงนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะจัดงานสุขบัญญัติแห่งชาติ ประจำปี 2553 ที่ห้องโถงใต้อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เวลา 09.00 – 15.00 น. ภายใต้แนวคิดว่า เด็กยุคใหม่ใส่ใจสุขบัญญัติ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนไว้ 4 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1. ยุทธศาสตร์ที่เน้นการส่งเสริมและการสร้างองค์ความรู้และการพัฒนาพฤติกรรมด้านสุขภาพ 2. ยุทธศาสตร์ในการสร้างโอกาสและการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ การเข้าถึงในเรื่องการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ 3. ยุทธศาสตร์การสร้างลักษณะนิสัยให้นำไปสู่แนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามสุขบัญญัติ และ4. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและผลักดันนโยบายเพื่อเดินหน้าไปสู่เป้าหมายต่อไป นายจุรินทร์กล่าว
************************ 7 มิถุนายน 2553
View 16
07/06/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ