ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งทีมงานรับมือฤดูกาลระบาดหนักของโรคไข้เลือดออกในเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2553 หลังฝนเริ่มตกชุก ชี้ปีนี้แนวโน้มระบาดหนัก พบจำนวนผู้ป่วยรอบ 5 เดือนปีนี้ สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 60 เปอร์เซ็นต์ พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 17,587 ราย เสียชีวิตแล้ว 20 ราย สูงสุดที่ภาคกลาง
          นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ชุดใหญ่ 1 ชุด จำนวน 23 คน ประกอบด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร โดยมีนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน เพื่อวางนโยบายการป้องกันและแก้ไขโรคไข้เลือดออกในระดับชาติ โดยให้หน่วยงานต่างๆ มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เนื่องจากจากการวิเคราะห์สถานการณ์โรคพบว่า ปีนี้มีแนวโน้มโรคจะระบาดหนักกว่าปีที่ผ่านมา 
ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2553 พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั่วประเทศ 17,587 ราย ส่วนใหญ่พบในเด็กโตและวัยรุ่น อายุระหว่าง 10-24 ปี ภาคกลางมีผู้ป่วยสูงสุดจำนวน 7,945 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 4,264 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,753 ราย และภาคเหนือ 1,625 ราย เสียชีวิตรวม 20 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 จำนวนผู้ป่วยปีนี้มากกว่าถึงร้อยละ 58 ชี้ให้เห็นว่าไข้เลือดออกในปีนี้จะระบาดหนัก โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดสูงสุดคือ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งมีฝนตกชุกขึ้น หากไม่มีการควบคุมป้องกันอย่างจริงจังของทุกหน่วยงาน   
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจะมีมาตรการเข้มในเรื่องการรายงานโรค โดยให้ทุกพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรีบรายงานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภายใน 24 ชั่วโมง และส่งทีมควบคุมโรคลงพื้นที่ทันทีเพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจาย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลางปีเมื่อเทียบกับข้อมูลย้อนหลังในช่วงเวลาเดียวกัน 5 ปีที่ผ่านมา จะต้องรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายถี่ขึ้นอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ส่วนในเรื่องการรักษาพยาบาลได้กำชับให้แพทย์ ทั้งแพทย์ทั่วไป กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ ให้ดูแลผู้ป่วยที่อายุเกิน 14 ปีที่มีไข้ ขอให้นึกถึงโรคไข้เลือดออกด้วย เพราะมีการเปลี่ยนแปลงของโรคพบในเด็กโตและวัยรุ่นมากขึ้น ซึ่งก่อนหน้านี้พบในเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ และให้สถานพยาบาลทุกระดับดูแลสถานที่ไม่ให้เป็นแหล่งแพร่โรค โดยต้องไม่มีลูกน้ำยุงลายในและรอบๆสถานพยาบาล
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อเด็งกี่ซึ่งเป็นสาเหตุโรคไข้เลือดออก อาศัยอยู่ในยุงลายที่พบในบ้านเรือนและในสวน มี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์เด็งกี่ที่ 1, 2, 3 และ 4 ในปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์เด็งกี่ที่ 1 มาก ในปีนี้ยังคงพบสายพันธุ์เด็งกี่ที่ 1 มากเช่นเดิม แต่สายพันธุ์เด็งกี่ที่ 2 และ 3 มีสัดส่วนที่สูงขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มีภูมิต้านทานต่อสายพันธุ์เด็งกี่ที่ 2 และ 3 จึงมีโอกาสที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกสูงมาก 
อาการของโรคไข้เลือดออกที่เป็นลักษณะเฉพาะคือมีไข้สูง 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปติดต่อกันหลายวัน เบื่ออาหาร ส่วนใหญ่ไม่มีอาการไอ ไม่มีน้ำมูก อาจมีจุดสีแดงๆเล็กๆขึ้นตามผิวหนัง บางรายอาจมองไม่เห็นชัดเจน ต้องใช้วิธีรีดผิวหนังให้ตึงจึงจะเห็นจุดแดงชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามในระยะแรกที่มีไข้สูง ไม่สามารถวินิจฉัยได้โดยง่าย เพราะอาการคล้ายไข้อื่นด้วย เช่นไข้หวัดใหญ่                                                   
ฉะนั้นวิธีการดูแลผู้ป่วยที่ดีที่สุดคือ ให้กินยาลดไข้ชนิดพาราเซตามอล อย่ากินประเภทที่มีแอสไพรินหรือไอบูโพรเฟนผสมอย่างเด็ดขาด เพราะยาชนิดนี้จะให้เลือดไม่แข็งตัว มีเลือดไหลในอวัยวะภายในมากขึ้นและมองไม่เห็น ผู้ป่วยอาจช็อคเมื่อใดก็ได้ สำหรับการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นไข้เลือดออกต้องไม่ให้ยุงลายกัด โดยนอนในมุ้ง ทายากันยุงและที่สำคัญต้องทำความสะอาดบริเวณบ้านและสวนให้โล่งเตียน ไม่ให้น้ำขังในภาชนะ หลุมบ่อต่างๆ ตามรอยเว้าก้นโอ่งที่คว่ำ ภาชนะใส่น้ำในบ้านที่ไม่มีฝาปิด ทั้งแจกันไม้ประดับ ขาหล่อตู้กับข้าว โอ่งน้ำ แท้งค์น้ำ ต้องเปลี่ยนเทน้ำทิ้งทุก 7 วัน สำหรับโอ่งน้ำที่ทิ้งแห้งไว้ถ้าจะใช้ใส่น้ำให้ขัดภายในโอ่ง เพื่อให้ไข่ยุงที่เกาะแห้งอยู่ออกไป แล้วล้างให้สะอาดก่อนบรรจุน้ำ พร้อมปิดฝาโอ่งให้มิดชิดป้องกันยุงวางไข่ ห้ามเติมน้ำก่อนกำจัดไข่ยุงที่แห้งติดภายในโอ่งอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ไข่ยุงลายที่มีอยู่กลายเป็นตัวยุง ซึ่งไข่ยุงแห้งจะมีอายุนานนับปี 
         
 *************************************       8 มิถุนายน 2553


   
   


View 12    08/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ