รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลก ทางโทรทัศน์สามารถกระทำได้ แต่ต้องอยู่ในกรอบกฎหมายเหล้า พ.ศ. 2551 ระบุหากถ่ายทอดสดยิงตรงจากต่างประเทศอยู่ในข้อยกเว้น ไม่ผิดกฎหมาย แต่หากเป็นการนำเทปบันทึกมาออกอากาศ จะต้องผ่านการตรวจ โดยทำให้ถูกต้องตามกฎกระทรวงฯ ก่อนเผยแพร่ออกอากาศ   

          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงที่มีการแข่งขันบอลโลกตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2553 11 กรกฎาคม 2553 ที่ประเทศอาฟริกาใต้ ซึ่งมักมีบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสปอนเซอร์การแข่งขันและถ่ายทอดไปทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีการแข่งขันบางคู่ถ่ายทอดสด บางคู่อาจอัดเป็นเทปและนำมาออกอากาศในประเทศภายหลัง ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 โดยเฉพาะมาตรา 32 ที่เกี่ยวข้องกับวงการสื่อว่าด้วยในการโฆษณาเหล้าระหว่างที่มีการแข่งขันบอลโลก ซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้ ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมาย ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อันเป็นการอวดอ้าง สรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งเป็นการห้ามในประเทศ แต่หากการโฆษณามีแหล่งกำเนิดมาจากนอกประเทศ จะอยู่ข้อยกเว้น สามารถกระทำได้ตามเวลาจริงที่ถ่ายทอดสด ไม่ผิดกฎหมายฉบับนี้ 
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า หากเป็นการบันทึกเทปแล้วมาถ่ายทอดให้ชมภายหลัง ผู้ที่ทำการเผยแพร่จะต้องตรวจสอบหรือเซนเซอร์ ตัดการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดออก เหลือเพียงภาพสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสัญลักษณ์ของบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นไปตามข้อบังคับคือมีขนาดไม่เกินร้อยละ 5 ของพื้นที่โฆษณาทั้งหมด และไม่เกินร้อยละ 5 ของเวลาโฆษณาทั้งหมด รวมทั้งหมดไม่เกิน 2 วินาที และอนุญาตให้โฆษณาได้ตั้งแต่เวลา 22.00 น.-05.00 น. และการแสดงภาพสัญลักษณ์ดังกล่าวต้องแสดงไว้ตอนท้ายของการโฆษณาเท่านั้น        
ด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การยกเว้นโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภทที่มีต้นกำเนิดมาจากนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 32 นี้ หมายความว่าเป็นการกระทำไม่ว่าวิธีการใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเพื่อประโยชน์ทางการค้า และให้หมายความรวมถึงการสื่อสารการตลาดด้วย ดังนั้นจึงให้พิจารณาขณะที่กระทำการโฆษณาหรือขณะที่ทำให้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความนั้นมีต้นกำเนิดอยู่ที่ใด เช่นการถ่ายทอดจากต่างประเทศ อย่างเช่นกรณีฟุตบอลโลกนี้ อาจจะมีโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่ที่หน้าอกเสื้อของนักฟุตบอล หรือข้างสนามฟุตบอล ก็เข้าข่ายยกเว้นสามารถกระทำได้ แต่กรณีบันทึกเทปเก็บเอาไว้แล้วนำไปเผยแพร่ให้เห็น ให้ได้ยิน หรือทราบข้อความซ้ำ โดยมีต้นกำเนิดจากห้องส่งภายในประเทศ เป็นวิธีการที่ไม่สามารถกระทำได้
 ดังนั้น จะเห็นได้ว่ากฎหมายมีความชัดเจน รอบคอบ รัดกุม แน่นอนอยู่แล้ว จึงขอฝากไปยังผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้กระทำการตามกฎหมายที่กำหนด เพื่อประโยชน์ของลูกหลานของเราทุกคนที่อยู่ในแผ่นดินไทย รวมถึงลูกหลานของท่านด้วย นายแพทย์สมานกล่าว                   
        
  *************************************       8 มิถุนายน 2553


   
   


View 4       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ