วันนี้(9 มิถุนายน 2553) ที่ห้องรอยัล จูบิลี่ บอลลูน เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์หลังเปิดประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ทีมดูแลสุขภาพและแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ในกทม.และ41 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบทางการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนดูแลสุขภาพ และมอบนโยบายการสร้างพลังชุมชนโดยอสม. ว่าวิกฤตการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมทั้งสิ้น 1,902 ราย เสียชีวิต 89 ราย และมีผู้ได้รับผลกระทบอื่นๆอีก ได้แก่ ครอบครัว ญาติ ชุมชนทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรง ซึ่งในภาพรวมมีการกำหนดเป้าหมายพื้นที่เข้าไปแก้ไขปัญหาชัดเจนคือ ในเขตกทม.มี 10 เขตจำนวน 45 ชุมชน มีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับการเยียวยาทางด้านจิตใจประมาณ 4,500 คน ในต่างจังหวัดอีก 41 จังหวัด    

                                 
นายจุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จะใช้ทั้งแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา บุคลากรอื่นๆของกระทรวงสาธารณสุข และอสม. เพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความเข้าใจในแนวทางที่ชัดเจน ซึ่งตนเข้าใจและเคารพในความคิดเห็นทางการเมืองของแต่ละบุคคล ถือว่าเป็นสิทธิของบุคคลที่จะมีความคิด มีอุดมการณ์ มีความเชื่อหรือมีความศรัทธาต่อพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่ในการลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในการเยียวยาสภาพจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทั้ง 4 กลุ่ม คือ1. กลุ่มครอบครัวผู้เสียชีวิต 2. กลุ่มผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัว 3. กลุ่มผู้ชุมนุมและครอบครัว และ4. กลุ่มผู้ที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมและครอบครัว แต่ได้รับผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสภาพจิตใจด้วยนั้น
“ภารกิจที่ผู้ที่จะลงไปทำงานทุกคน ต้องเก็บเสื้อ เก็บสี และลงไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อที่จะทำให้สังคม ชุมชน ที่อสม.สังกัด สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติและสงบสุข เหมือนในอดีต โดยยอมรับในความคิดเห็นและความแตกต่างทางการเมือง และเคารพต่อความคิดที่แตกต่างซึ่งกันและกัน” นายจุรินทร์กล่าว 
          นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนเข้าไปเยียวยา 2 ระยะ คือระยะสั้นและระยะยาว ระยะสั้นจะเน้นที่ตัวบุคคลและครอบครัว จะทำ 2 รอบ รอบแรกตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป รอบที่ 2 จะทำในเดือนกรกฎาคม และสิงหาคม 2553 ในระยะยาวจะเน้นที่ชุมชนและสังคมในภาพรวมของประเทศ จะดำเนินการควบคู่กันไปตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป
จากการสำรวจอารมณ์รุนแรงทางการเมือง ยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2553 เป็นการสำรวจครั้งสุดท้าย พบประชาชนมีอารมณ์ทางการเมืองร้อยละ 25 จึงตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 3 เดือน จะให้ลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 20 และภายใน 1 ปีลดลงเหลือไม่เกินร้อยละ 15 และจะต้องเข้าสู่ภาวะปกติคือไม่เกินร้อยละ 10 ได้ให้กรมสุขภาพจิตจัดทำแผนการดูแลที่ชัดเจน สะท้อนให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุข มีเป้าหมาย แนวทางที่ต้องการให้สังคมกลับสู่ความสงบสุข ทั้งด้านจิตใจและอารมณ์   นายจุรินทร์ กล่าว    
**********************       9 มิถุนายน 2553


   
   


View 16    09/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ