รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยสถานการณ์โรคไข้เลือดออกน่าห่วงแต่ยังไม่สาย เร่งสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวเที่ยวเมืองไทยไม่เป็นไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย โดยจัดทำโครงการโรงแรม รีสอร์ทแหล่งท่องเที่ยวปลอดลูกน้ำยุงลาย เพิ่มความได้เปรียบการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว เริ่มนำร่องในโรงแรม 33 แห่งที่เกาะสมุย
วันนี้ (10 มิถุนายน 2553) ที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคติดต่อที่มีสาเหตุมาจากยุง ในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นเกาะ ว่า โรคที่น่าห่วงมากก็คือโรคไข้เลือดออก ซึ่งเป็นปัญหาของภูมิภาคเขตร้อนที่พบทุกภาคของประเทศ มีสาเหตุจากยุงลาย ทั้งนี้ในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ จำนวน 19,037 ราย เสียชีวิต 22 ราย พบผู้ป่วยได้ทุกวัย โดยภาคกลางมีผู้ป่วยสูงสุด 8,327 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 4,549 ราย แต่เมื่อเทียบจำนวนประชากรทุก 1 แสนคนแล้ว พบว่าภาคใต้มีอัตราป่วยสูงสุด คือ 51.61 ราย สำหรับที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี พบผู้ป่วย 46ราย
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งสภาพเป็นภูเขา เป็นพื้นที่เกาะ และชายทะเล มีการคมนาคมสะดวก แหล่งท่องเที่ยวในภาคใต้ที่ได้รับความนิยมมาก เช่น เกาะสมุย ภูเก็ต กระบี่ พังงา มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศปีละประมาณ 11 ล้านคน และเพื่อเป็นสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว ว่าแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นสถานที่ปลอดภัยจากโรคที่นำโดยยุงลาย เช่น โรคไข้เลือดออก รวมทั้งโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพิ่มความได้เปรียบการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำโครงการพัฒนาโรงแรม รีสอร์ท ในแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นเขตปลอดลูกน้ำยุงลาย นำร่องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานีแห่งแรก มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ 33 แห่ง ซึ่งในปีหน้าจะขยายโครงการเพิ่มขึ้นในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ ต่อไป
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการดำเนินงานให้โรงแรม รีสอร์ทที่อำเภอเกาะสมุย เป็นสถานที่ปลอดลูกน้ำยุงลาย จะมีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยปลูกพืชสมุนไพรไล่ยุง เช่น ตะไคร้หอม ต้นมอสซี่ บาสเตอร์ ต้นมอสกีโต้ ซึ่งมีจำหน่ายทั่วไป นำต้นไม้ที่มีกลิ่นไปวางไล่ยุง เช่น กระเพราส่วนภาชนะที่มีน้ำขังให้ใช้หลักดำเนินการ 5 ป คือ ปิด เปลี่ยน ปล่อย ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติเป็นประจำ โดยบริเวณบ่อหรือสวนน้ำให้เน้นเลี้ยงปลากินลูกน้ำ ส่วนภาชนะหรือแหล่งน้ำที่ไม่สามารถใส่ปลาได้ ให้ใช้ทรายกำจัดลูกน้ำแทน และจัดกิจกรรมรณรงค์ Big Cleaning dayทำลายแหล่งเพาะพันธุ์เดือนละครั้ง ทั้งภายในและนอกโรงแรม จะทำให้พื้นที่ทั้งในและนอกอาคารที่พักปลอดลูกน้ำยุงลาย และยุงตัวเต็มวัย ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2553 ทั้งนี้จะมอบเกียรติบัตรให้สถานประกอบการที่ผ่านการประเมินในเดือนกันยายน 2553 โดยกรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือ พร้อมทั้งสื่อเรื่องโรคไข้เลือดออกแจกนักท่องเที่ยวฉบับภาษาไทยและอังกฤษด้วย
พร้อมกันนี้ยังได้จัดอบรมพัฒนาเจ้าหน้าที่โรงแรม รีสอร์ท ให้มีความรู้ ทักษะในการดูแลสิ่งแวดล้อม และดำเนินงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุข นักเรียน เทศบาล เพื่อดูแลบริเวณรอบโรงแรม รวมถึงจัดประกวดโรงแรมและคัดเลือกโรงแรมต้นแบบปลอดลูกน้ำยุงลายด้วย
**************************** 10 มิถุนายน 2553