ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชาชน ระมัดระวังการกินเห็ดป่า โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือน ตั้งแต่เดือนนี้จนถึงสิงหาคม รอบครึ่งปีนี้พบป่วยจากเห็ดพิษแล้ว 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย พบสูงสุดที่ภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เร่งประชาสัมพันธ์ความรู้ให้ประชาชนเลือกกินเห็ดป่าอย่างปลอดภัย แนะ 10 ข้อสังเกตเห็ดพิษง่ายๆ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในฤดูฝน ทุกภาคของประเทศไทยจะมีเห็ดที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ในป่า สวน ไร่ ชาวบ้านมักเก็บเห็ดมาบริโภคหรือจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งเห็ดที่กินได้และเห็ดมีพิษ เห็ดที่กินได้ เช่น เห็ดโคน เห็ดจูน เห็ดไข่ห่าน เห็ดเผาะ เห็ดหูหนู เห็ดตับเต่าบางชนิด และเห็ดลม ส่วนเห็ดที่มีพิษ เช่นเห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น โดยแต่ละปีจะพบผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดป่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม พบมากในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในรอบ 6 เดือนปีนี้ พบผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษแล้ว 300 ราย เสียชีวิต 2 ราย เฉพาะเดือนพฤษภาคมพบผู้ป่วย 97 ราย เสียชีวิต 1 ราย ตลอดปี 2552 มีรายงานประชานกินเห็ดป่ามีพิษ 1,610 ราย เสียชีวิต 3 ราย นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ได้มอบหมายให้ทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพิษภัยจากการกินเห็ดผ่านสื่อต่างๆ ในท้องถิ่น และให้เฝ้าระวัง ติดตามและประเมินสถานการณ์หากพบผู้ป่วย รวมทั้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสอบสวนโรคทุกรายเมื่อพบผู้ป่วย ผู้เสียชีวิต และเก็บเห็ดป่าส่งตรวจชนิดของเห็ดและหาความเป็นพิษ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ประกาศแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการเลือกซื้อหรือเก็บเห็ดป่าเห็ดธรรมชาติมาปรุงเป็นอาหาร ควรเลือกเห็ดที่รู้จักดีและแน่ใจว่าไม่มีพิษ โดยสามารถสังเกตจากลักษณะภายนอก 10 ข้อ ได้แก่ 1.เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล 2.มีลักษณะเป็นสมองหรืออานม้าซึ่งบางชนิดต้มแล้วกินได้แต่บางชนิดมีพิษร้ายแรง 3.มีปลอกหุ้มโคน 4.มีโคนอวบใหญ่ 5.มีปุ่มปม 6.มีหมวกเห็ดเป็นรูปๆ แทนที่จะเป็นช่องคล้ายครีบปลา 7.มีหมวกเห็ดสีขาว 8.มีวงแหวนใต้หมวก 9.เห็ดตูมมีเนื้อในสีขาว และ10.เห็ดที่ขึ้นที่มูลสัตว์หรือใกล้มูลสัตว์ ขอให้หลีกเลี่ยงอย่าเก็บมากินเพราะอาจเป็นเห็ดพิษได้ ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาการที่เกิดจากการกินเห็ดพิษมีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของเห็ด มักปรากฏหลังกิน 3 ชั่วโมง อาการพิษมากน้อยแตกต่างกันตามปริมาณที่กินเข้าไป เช่น 1.พิษจากเห็ดลูกไก่ จะทำให้มีอาการคลื่นไส้และอาเจียน 2.พิษจากเห็ดหมวกจีน มีอาการเหงื่อแตก คลื่นไส้ และปวดเกร็งในท้อง 3.เห็ดเกร็ดขาว มีอาการประสาทหลอน เพ้อ คลุ้มคลั่ง ตามด้วยซึม ซัก และหมดสติ 4.พิษจากเห็ดไข่ตายซาก เห็ดระโงกหิน และเห็ดไข่เป็ด เห็ดไข่ห่านตีนต่ำ มีอาการอ่อนแรง ปวดศีรษะ และคลื่นไส้ เกิดขึ้นในเวลาเกิน 6 ชั่วโมงและอาการมักทุเลา 1-2 วันต่อมา ต่อมามีตับอักเสบ จนถึงตับอักเสบ จนถึงตับวายได้ หากพบผู้ได้รับพิษจากการกินเห็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง เวียนศีรษะ การช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุดคือทำให้อาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันที ซึ่งหากเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ที่กินเห็ดเข้าไปมากๆ ก็อาจทำให้เสียชีวิตได้เช่นกัน *********************** 13 มิถุนายน 2553


   
   


View 15    13/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ