รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยโรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ยังน่าห่วง รอบ 5 เดือนนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 13 ราย 1 ใน 3 ถูกลูกสุนัขกัด ย้ำโรคนี้เกิดได้ทุกฤดูกาล กทม.และกาญจนบุรีเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง เตือนผู้เลี้ยงลูกสุนัขอายุยังไม่ถึง 3 เดือนและไม่รู้ประวัติ นำมาเลี้ยงใหม่ยังไม่ควรเลี้ยงคลุกคลีกับสุนัขตัวอื่นในทันที สุนัขที่เคยฉีดวัคซีนมาแล้ว หากถูกสุนัขที่สงสัยเป็นบ้ากัด ต้องไปฉีดวัคซีนซ้ำทันที  

          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า โรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2553 มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคนี้แล้ว 13 ราย ใน 7จังหวัดได้แก่ กทม. 6 ราย กาญจนบุรี 2 ราย สระบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี ตาก และชลบุรี จังหวัดละ 1 ราย โดย 12 รายถูกสุนัขกัด เกินครึ่งเป็นสุนัขมีเจ้าของ อีก 1 รายถูกแมวจรจัดกัด โรคนี้เกิดได้ทุกฤดูกาล ไม่เฉพาะฤดูร้อนเท่านั้น พื้นที่เสี่ยงพิเศษมี 2 จังหวัดคือกทม. และกาญจนบุรี เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตเกือบทุกปี เมื่อคนถูกสุนัขกัด ไม่ว่าจะบ้าหรือไม่ ต้องรีบล้างแผลให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำหลายๆครั้ง เพื่อชะล้างเชื้อโรคต่างๆออกจากแผล และบาดแผลแม้จะไม่ใหญ่หรือเป็นเพียงรอยขีดข่วน หากสัตว์ที่กัดเป็นโรคพิษสุนัขบ้าก็สามารถติดโรคได้ เพราะเชื้อที่อยู่ในน้ำลายของสัตว์เข้าสู่ร่างกายได้ ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการฉีดวัคซีน และดูประวัติการฉีดวัคซีนของสุนัขหรือสัตว์อื่นที่กัด

                      

ในการลดปัญหาคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขเน้นที่การแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ โดยร่วมมือกับกรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ทั้งสุนัขและแมว ให้ได้ครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ของสุนัขและแมวทั้งหมดทุกพื้นที่ ติดต่อกันทุกปี ที่ผ่านมาพบว่าสุนัขได้รับการฉีดวัคซีนยังไม่ถึงร้อยละ 60 เมื่อสุนัขไม่มีเชื้อโรคคนก็จะไม่เป็นโรค เป็นวิธีที่คุ้มค่าที่สุดและเป็นที่ยอมรับขององค์กรระดับโลก  

          ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขจะทบทวนการจัดเขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้าใหม่ ร่วมกับกรมปศุสัตว์   โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 โซนเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคพิษสุนัขบ้าในทันที คือโซนเอเป็นโซนที่ไม่มีรายงานโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์และคนติดต่อกัน 2 ปี พร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นเขตปลอดโรคได้ โซนบีมีรายงานโรคในสัตว์แต่ไม่มีรายงานโรคในคนติดต่อกันอย่างน้อย 2 ปี  และโซนซีมีรายงานโรคทั้งในสัตว์และคน เป็นพื้นที่ที่ต้องเร่งรัดควบคุมโรคในสัตว์เป็นอย่างยิ่ง โดยในปีนี้ได้จัดอบรมองค์กรส่วนท้องถิ่นไปแล้ว 12 จังหวัด เพื่อให้ไปสำรวจพื้นที่ของตนเองว่าอยู่ในโซนใด และดำเนินการสร้างพื้นที่เขตปลอดโรคพิษสุนัขบ้า โดยทุกจังหวัดที่อบรมไปมีแผนและงบประมาณ อย่างน้อย 3 ปี

                             

          ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า  ต้นตอโรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยร้อยละ 90 มาจากสุนัข ในสุนัขหากติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจะมีอาการภายใน 1-2 เดือน บางตัวอาจนานถึง 6 เดือน อาการที่ปรากฏได้แก่ หางตก คอแข็ง น้ำลายฟูมปาก ลิ้นห้อย ไม่กินน้ำ ตื่นเต้น กระวนกระวาย อาจมีอาการดุร้ายกัดทุกสิ่งที่ขวางหน้า บางตัวอาจมีอาการเซื่องซึม ไม่กินอาหาร จากนั้นจะเสียชีวิตภายใน 10 วันหลังมีอาการ  

ในการเลี้ยงสุนัขไม่ให้เป็นโรคพิษสุนัขบ้า โดยทั่วไปกำหนดให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคเมื่ออายุ 3 เดือนขึ้นไป ฉีดทุกปี ปีละ 1 ครั้ง ในกรณีที่นำลูกสุนัขที่อายุยังไม่ถึง 3 เดือนมาเลี้ยงเพราะเชื่อว่าสุนัขจะสอนง่าย เป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ เพราะลูกสุนัขอาจติดเชื้อมาก่อน หากเป็นลูกสุนัขที่ไม่มีคนดูแลและแม่สุนัขไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือไม่รู้ประวัติแม่สุนัขเลย คาดว่าลูกสุนัขจะไม่มีภูมิคุ้มกันโรค แต่ถ้าลูกสุนัขที่แม่มีประวัติฉีดวัคซีน จะมีภูมิคุ้มกันโรคพิษสุนัขบ้านานประมาณ 11 สัปดาห์ การนำสุนัขตัวใหม่ที่ไม่รู้ประวัติมาเลี้ยง ในระยะแรกควรแยกจากสุนัขตัวอื่น เพราะอาจจะติดเชื้อโรคต่างๆ ไปสู่สุนัขอื่น รวมทั้งโรคพิษสุนัขบ้าได้ 

                             

นอกจากนั้น จะต้องไม่ให้สุนัขมาเลียหรือกัดนิ้วเล่น เพราะอาจมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย และควรนำไปปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและสังเกตอาการต่อไปจนครบ 6 เดือน จึงจะมั่นใจว่าสุนัขไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า เพราะที่ผ่านมา 1 ใน 3 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้เกิดจากถูกลูกสุนัขกัด และไม่เฉลียวใจไปฉีดวัคซีน เพราะเชื่อว่าลูกสุนัขไม่มีเชื้อ และบาดแผลเป็นแค่รอยเล็กๆ หรือเล็บข่วน ไม่ใช่แผลใหญ่ จึงไม่ได้ใสใจนึกถึงโรคนี้    

 “กรณีสุนัขเลี้ยงที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ไปถูกสุนัขที่สงสัยว่าอาจบ้ากัด จะต้องนำสุนัขไปฉีดวัคซีนซ้ำทันทีหลังถูกกัด เพราะภูมิต้านทานโรคที่ได้รับจากวัคซีนจะค่อยๆลดลง การได้รับวัคซีนซ้ำจะทำให้สุนัขที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนจะมีภูมิคุ้มกันสูงขึ้นโดยเร็ว ทำให้ป้องกันโรคได้ แต่ถ้าสุนัขตัวที่ถูกสุนัขบ้ากัดยังไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน เมื่อพาไปฉีดวัคซีนหลังจากถูกสุนัขบ้ากัด ภูมิคุ้มกันจะขึ้นช้า อาจป้องกันโรคไม่ทัน ตามหลักวิชาการจะต้องถูกกำจัดทิ้ง ดังนั้น ผู้ใดที่เลี้ยงสุนัขไว้ เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น ต้องพาสุนัขไปรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ป้องกันไว้ก่อนเป็นการดีที่สุด นายแพทย์มานิตกล่าว

     *********************************     20 มิถุนายน 2553


   
   


View 11    20/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ