“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขเผยผลสำรวจความอ้วนของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ล่าสุดพบอ้วนเฉลี่ยร้อยละ 22 แนะวิธีการลดน้ำหนักที่ปลอดภัย อย่าหักดิบ ให้ค่อยเป็นค่อยไปโดยใช้หลัก 3 อ. คือออกกำลังกาย ควบคุมอาหารและควบคุมอารมณ์ ไม่แนะอดอาหาร เนื่องจากจะทำให้เครียด และกินหนักกว่าเดิม
จากการที่มีอาจารย์ชายอายุ 30 ปี น้ำหนักตัว 160 กิโลกรัม ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำโรงเรียนสาธิตชื่อดังแห่งหนึ่งในกทม. เสียชีวิตอยู่ในท่านั่งพิงบนโซฟาภายในโรงเรียน วันที่ 21 มิถุนายน 2553 เบื้องต้นแพทย์สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตว่าน่าจะมาจากหัวใจวายเฉียบพลัน โดยเพื่อนผู้เสียชีวิตให้การว่าเมื่อช่วงเย็นวันที่ 20 มิถุนายน 2553 มีคนเห็นผู้เสียชีวิตวิ่งจ็อกกิ้งอยู่ในโรงเรียน โดยผู้เสียชีวิตรายนี้เป็นคนรูปร่างใหญ่ หนักประมาณ 160 กิโลกรัม และในช่วงหลังเพื่อนร่วมงานสังเกตเห็นผู้เสียชีวิตผอมซูบไปผิดตา จึงได้สอบถามผู้เสียชีวิตตอบว่า เข้าคอร์สรักษาโรคอ้วน โดยน้ำหนักลดลงไปได้ประมาณ 17 กิโลกรัม
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้คนไทยเผชิญปัญหาโรคอ้วนมากขึ้น ผลสำรวจของกรมอนามัยในประชาชนที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุด ในพ.ศ. 2552 พบว่าอยู่ในข่ายอ้วนทั่วประเทศโดยเฉลี่ยร้อยละ 22 โดยจากการตรวจประเมินรอบเอวทั้งหมดจำนวน 12 ล้านคน พบเข้าข่ายอ้วน รอบเอวอยู่เกินเกณฑ์ปกติคือผู้หญิงเกิน 80 ซม. ชายเกิน 90 ซม. จำนวน 2 ล้าน 7 แสนกว่าคน ซึ่งข่าวการเสียชีวิตของคนอ้วนที่อยู่ระหว่างลดน้ำหนักตัว เป็นเรื่องเตือนใจให้ทุกคนเกิดความตระหนัก ให้ดูแลสุขภาพอย่าให้น้ำหนักตัวเกิน ส่วนคนอ้วนที่ต้องการลดน้ำหนักจะต้องใช้วิธีการที่ปลอดภัย
นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า การลดน้ำหนักที่ปลอดภัย ใช้หลัก 3 อ. คือออกกำลังกาย ควบคุมอาหารและควบคุมอารมณ์ การออกกำลังกายเป็นกิจกรรมที่สำคัญในการลดน้ำหนัก เพราะหากควบคุมอาหารอย่างเดียว จะทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายหย่อนยานและลดลง 25 เปอร์เซ็นต์ ส่วนการควบคุมอารมณ์เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว ขอแนะนำให้ประชาชนใช้หลัก 3 ส. คือสกัด สะกด และสะกิด โดยสกัดสิ่งที่กระตุ้นให้รู้สึกอยาก รู้สึกหิว เช่นไม่เดินผ่านร้านขายไก่ทอด ขนมต่างๆ สะกดใจตัวเองไม่ให้กินเกิน เช่นอาจกินลดปริมาณลงหรือแบ่งให้คนอื่นกินบ้าง ส่วนสะกิดหมายถึงให้คนข้างๆช่วยเตือนว่ากินมากไม่ได้หรือไม่ควรกินหรือสะกิดกันให้ออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้ ต้องทำแบบค่อยเป็นค่อยไป อย่าเร่งหักดิบ เพราะอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ด้าน นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ ผอ.กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า การควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักตัว ต้องกินให้ครบทั้ง 3 มื้อ ไม่ควรอดอาหาร เนื่องจากจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหาร และเกิดอาการเครียดทำให้กินอาหารมากกว่าเดิม วิธีการกินอาหารให้แบ่งอาหารเป็น 4 ส่วน เป็นผัก 2 ส่วน แป้ง 1 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน แล้วค่อยๆลดปริมาณการกิน โดยเฉพาะมื้อเย็นต้องลดลง และกินก่อนเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพื่อลดการสะสมไขมัน
สำหรับคนอ้วน ผู้ที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ควรเริ่มจากการออกกำลังกายในน้ำหรือเดินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งเดินได้วันละ 30 นาทีโดยค่อยๆเพิ่มเวลา อย่างน้อยอาทิตย์ละ 5 วัน ถ้าต้องการลดน้ำหนักให้ออกกำลังกายวันละ 40-60 นาที อย่างน้อยอาทิตย์ละ 5 วัน โดยใน 1 เดือนให้ค่อยๆ ลดน้ำหนักให้ได้ร้อยละ 5-10 ของน้ำหนักตัว หรือเดือนละประมาณ 4 กิโลกรัม ถ้ามากกว่านั้นอาจทำให้ร่างกายอ่อนเพลียมาก น้ำหนักอาจกลับมามากกว่าตอนเริ่มลด และจะลดยากกว่าเก่า ประชาชนที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ คลินิกไร้พุง กรมอนามัย โทร 02-590-4415 และที่ศูนย์อนามัย กระทรวงสาธารณสุขทั้ง 12 ศูนย์ทั่วประเทศ