“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ตรวจสอบคลินิกที่ลักลอบทำแท้งเถื่อน หากพบให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ย้ำเตือนวัยรุ่นหญิงให้รักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม และป้องกันปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์จนต้องทำแท้งเถื่อน เสี่ยงเสียชีวิต เสี่ยงติดคุก
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกรณีที่มีข่าวนำศพทารกมาดองขาย คาดว่าจะมาจากการทำแท้งเถื่อนที่จังหวัดอุบลราชธานี ว่า ได้สั่งการให้สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เข้มงวดตรวจสอบคลินิกที่อาจมีการลักลอบทำแท้ง และให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รับร้องเรียนจากประชาชนอย่างต่อเนื่องในเรื่องคลินิกเถื่อน หมอเถื่อน และได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปดำเนินการตรวจสอบ จับกุมร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นระยะๆ แต่ก็ยังมีการลักลอบเปิดให้บริการ โดยเฉพาะคลินิกทำแท้งเถื่อน เนื่องจากรายได้ดีและเป็นที่ต้องการของประชาชนบางกลุ่ม
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า การทำแท้งเกิดได้จากปัญหาสุขภาพของมารดา หรือจากการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา การทำแท้งเพื่อรักษาชีวิตของมารดานั้นไม่เป็นปัญหาเพราะทำในสถานบริการสาธารณสุขด้วยวิธีที่ถูกต้อง จึงไม่มีปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงตามมา แต่การทำแท้งที่เกิดจากการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา ซึ่งคาดว่าจะมีถึงปีละ 300,000 คน ส่วนใหญ่ทำด้วยวิธีการที่ไม่ปลอดภัย ผู้ที่กระทำมักไม่ใช่แพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ มดลูกอักเสบ ตกเลือด มดลูกทะลุ อาจถูกตัดมดลูกทิ้ง หรือเสียชีวิตเพราะอักเสบรุนแรง ซึ่งพบได้ร้อยละ 12 บางรายอาจไม่สามารถมีบุตรได้ตลอดชีวิต
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การทำแท้งส่วนใหญ่เป็นเรื่องผิดกฎหมาย จึงไม่มีรายงานเรื่องนี้อย่างละเอียด มีเพียงการศึกษาเฉพาะในโรงพยาบาล เช่น การรักษาภาวะตกเลือดและรกค้าง จากการแท้งผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่เป็นนักเรียน นักศึกษา อายุ 14-20 ปี ดังนั้น ขอเตือนผู้หญิงทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นขอให้ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ไม่ควรมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เพราะจะทำให้เกิดปัญหา หากมีเพศสัมพันธ์ต้องรู้จักการป้องกันตนเองไม่ให้เกิดโรค รวมทั้งการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา จนนำไปสู่การทำแท้งที่ผิดกฎหมาย
ด้านนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. 2541ไม่ได้กำหนดโทษทำแท้งไว้ เนื่องจากเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายอาญาที่ได้บัญญัติไว้แล้วคือ มาตรา 302ผู้ทำแท้งโดยหญิงยินยอมมีโทษจำคุก 5ปี ปรับไม่เกิน 1หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากหญิงที่ยินยอมให้ทำแท้งได้รับอันตรายสาหัส โทษจะเพิ่มขึ้นเป็น 7ปีและปรับไม่เกิน 14,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากถึงแก่ความตายจะต้องจำคุกตั้งแต่ 10ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาทโดยหญิงยินยอมให้กระทำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา 301มีโทษจำคุกไม่เกิน 3ปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท
ส่วนสถานพยาบาลเถื่อนหรือสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ สถานพยาบาล พ.ศ. 2541จำคุกไม่เกิน 3ปี ปรับไม่เกิน60,000บาท ผู้ที่ทำการประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ใช่แพทย์จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525โทษจำคุกไม่เกิน3ปี ปรับไม่เกิน 30,000บาท