วันนี้ (25 มิถุนายน 2553) ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 38 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากลซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนทุกปี โดยมีทูตานุทูต ผู้บริหาร ข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน

ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายในครั้งนี้ น้ำหนักรวมทั้งสิ้น 2,460 กิโลกรัม จาก 3,211 คดี รวมมูลค่า 6,158 ล้านบาท ประกอบด้วย เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าจำนวนประมาณ 20 ล้านเม็ด น้ำหนักรวม 1,818.80 กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 5,557 ล้านบาท เฮโรอีน 213.97 กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 534 ล้านบาท ฝิ่น 129 กิโลกรัมมูลค่า 1.8 ล้านบาท เอ็กซ์ตาซี่หรือยาอี (MDMA/MDA) 3.72 กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 54 ล้านบาท กัญชา 6.5 กิโลกรัมมูลค่า 65,087.60 บาท โคเคน 1.18 กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 3 ล้านบาท โคเดอีน 212.42 กิโลกรัม (ประมาณ 166.32 ลิตร) มูลค่าประมาณ 399,170 บาท และวัตถุออกฤทธิ์ เช่น อีเฟดรีน คีตามีน     ไนเมตาซีแพม 63.75 กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 5.7 ล้านบาท ขณะนี้ยังมียาเสพติดของกลางเก็บรักษาที่คลังยาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เนื่องจากคดียังไม่สิ้นสุดอีกประมาณ 18,646 กิโลกรัมหรือ 18 ตัน จาก 165,458 คดีซึ่งในครั้งนี้ยังมีกัญชาของกลาง ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติดมาร่วมเผา จำนวน 3,231.7392 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 32 ล้านบาท
         
การเผาทำลายยาเสพติดครั้งนี้ ใช้วิธีการเผาระบบไพโรไลติก อินซินเนอเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ซึ่งใช้อุณหภูมิเผาสูงกว่า 850 องศาเซลเซียส จะทำให้ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ทุกชนิดเกิดการสลายตัว กลายเป็นผงเถ้าถ่านทั้งหมดอย่างรวดเร็ว ไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม 
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในเรื่องการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ขณะนี้มีสถาบันธัญญารักษ์และโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปที่กระจายอยู่ทุกจังหวัด ทำหน้าที่บำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กลุ่มวัยรุ่นเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญกลุ่มหนึ่งของผู้ค้ายาเสพติด ที่ต้องการจะใช้เป็นฐานสำคัญในการค้า ได้แก่ ยาบ้า ยาไอซ์ รัฐบาลมีนโยบายจะดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยดำเนินการควบคู่กันไป 5 มาตรการครบวงจร เริ่มต้นตั้งแต่มาตรการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดรักษา การฟื้นฟูสมรรถภาพ และด้านนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ ทั้งนี้มาตรการป้องกันจะเป็นมาตรการที่ดีที่สุด เพราะเป็นมาตรการที่ยั่งยืน ช่วยลดความต้องการใช้ยาเสพติด ในช่วงที่ผ่านมาได้จับกุมดำเนินคดีได้จำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงนี้จับกุมได้รายสัปดาห์ ซึ่งหากรณรงค์ป้องกันอย่างเดียว ไม่ปราบปราม ก็ไม่ทันรับมือกับพ่อค้ายาเสพติด  ยาเสพติดที่เป็นปัญหาสำคัญขณะนี้ มียาบ้า ยาไอซ์ กัญชา ส่วนเฮโรอีนจะใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อข้ามไปยังประเทศเป้าหมายอื่นๆ ที่เผาทำลายครั้งนี้ก็เป็นยาบ้ามากที่สุดมีจำนวนถึง 20 ล้านเม็ด
สำหรับการควบคุมสารตั้งต้น กระทรวงสาธารณสุขมีกฎระเบียบที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าสารใดที่เป็นสารตั้งต้นยาเสพติด ร้านขายยาที่จำหน่าย ต้องมีรายงานการซื้อขายชัดเจน และรายงานให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทราบ ส่วนสารตั้งต้นตัวที่นำไปผสมยาบ้าและข้ามไปยังชายแดนที่ติดประเทศไทย ได้ควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นประธานคณะทำงาน เข้าไปดูแลส่วนนี้อยู่แล้ว ยืนยันได้ว่ามาตรการของรัฐบาลเข้มแข็ง มีสัมฤทธิผลที่ดีพอสมควร ซึ่งดูได้จากการดำเนินคดีที่ต่อเนื่อง และจับกุมได้มากในขณะนี้ นายจุรินทร์กล่าว 
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ในปี 2552 มีผู้เสพสารเสพติดทุกประเภทเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูทั่วประเทศ 117,886 ราย เป็นผู้เสพร้อยละ 62 เป็นผู้ติดยาร้อยละ 36 และอีกร้อยละ 2 เป็นผู้ติดอย่างรุนแรง ผู้เข้ารับการบำบัดร้อยละ 79 เป็นผู้เสพรายใหม่ ยาเสพติดที่ใช้กันมาก 3 ตัวได้แก่ ยาบ้า กัญชาและสารระเหย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 25 ในรอบ 6 เดือนของปีงบประมาณ 2553 ตั้งแต่ตุลาคม 2552 – มีนาคม 2553 มีผู้เสพ/ ผู้ติดยาเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟูแล้ว 52,000 ราย โดยมีอาชีพรับจ้างมากที่สุด รองลงมาคือ ว่างงานและเกษตรกร โดยในปี 2553 คาดว่าจะมีผู้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูประมาณ 120,000 คน ซึ่งทั่วประเทศมีสถานบำบัดผู้ติดยาเสพติดทั้งหมด 1,306 แห่ง
นอกจากนี้ สถาบันธัญญารักษ์ กรมการแพทย์ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่บำบัดผู้ติดยาเสพติดโดยเฉพาะ ได้เปิดสายด่วนอัตโนมัติ 1165 ให้คำปรึกษาประชาชนที่ประสบปัญหาจากยาเสพติดตลอด 24 ชั่วโมง ในปีที่ผ่านมามีผู้ใช้บริการสายอัตโนมัติเฉลี่ยวันละ 50 ครั้ง และใช้บริการสายสดกับเจ้าหน้าที่วันละ 20 สาย ส่วนใหญ่สอบถามเรื่องวิธีการเข้ารับการบำบัดรักษา และวิธีจัดการกรณีผู้ป่วยไม่ยอมมารักษา และผู้ป่วยมีอาการทางจิตประสาท ยาเสพติดที่ผู้รับบริการขอรับคำปรึกษามากที่สุดคือ ยาบ้าร้อยละ 60 รองลงมาคือ สุราร้อยละ 20 และสารระเหยร้อยละ 10 โดยใช้เวลาปรึกษาเฉลี่ยรายละ 5-10 นาที
*************************     25 มิถุนายน 2553
 


   
   


View 13    25/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ