ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งพบได้ตลอดปีในทุกภาค เชื้อโรคเข้าทางแผลหรือไชผ่านผิวหนังได้ เตือนผู้มีแผลที่เท้าต้องระวัง การป้องกันให้สวมรองเท้าบู๊ทหากต้องลุยย่ำโคลน ปีนี้ตั้งแต่ 1 มกราคม- 5 มิถุนายน มีผู้ป่วยแล้ว 1,209 ราย มากที่สุดที่บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สุรินทร์ โดยพบทั้งเกษตรกร นักเรียน พระภิกษุ ข้าราชการ เสียชีวิตรวม 14 ราย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลการระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) หรือโรคไข้ฉี่หนู โรคนี้พบได้ตลอดปีแต่จะพบมากในช่วงกรกฎาคม-กันยายนทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลทำนา มีฝนตก น้ำขังเฉอะแฉะ โรคนี้มีสาเหตุมาจากหนู โดยเชื้อโรคซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียจะอยู่ในฉี่ของหนู และปนเปื้อนอยู่ตามแหล่งน้ำขังชื้นแฉะทั่วไป ในปี 2553 นี้ ตั้งแต่มกราคม-มิถุนายน สำนักระบาดวิทยารายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูทั่วประเทศ 1,209 ราย เสียชีวิต 14 ราย พบผู้ป่วยทุกภาค มากที่สุดในภาคอีสานพบร้อยละ 69 ภาคใต้มีแนวโน้มผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งพบมากในชุมชนแออัด มีหนูชุกชุม จังหวัดที่พบมากที่สุดได้แก่ บุรีรัมย์ 168 ราย รองลงมาคือศรีสะเกษ 154 ราย และสุรินทร์ 124 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือวัยทำงาน 25-55 ปี อาชีพที่พบสูงสุดได้แก่ เกษตรกร 652 ราย โดยติดเชื้อขณะทำนา ทำสวน ระหว่างการจับปลา จับหนูในนา นอกจากนี้ยังพบในผู้มีอาชีพรับจ้าง นักเรียน ข้าราชการ ทหารตำรวจและพระภิกษุ โดยพบเพศชายมากกว่าหญิง 4 เท่าตัว นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าในปีนี้หลายพื้นที่จะประสบปัญหาภัยแล้ง โรคอาจลดน้อยลงบ้าง แต่ในพื้นที่ที่เคยมีรายงานการระบาดซ้ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาและมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆเช่น มีหนูชุกชุม มีน้ำท่วมขัง หรืออยู่ในที่แออัด จะต้องระมัดระวัง ขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการย่ำน้ำ หรือการแช่น้ำนานๆ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.ทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคฉี่หนูอย่างใกล้ชิด เร่งประชาสัมพันธ์ให้ความรู้วิธีการป้องกันตัวแก่ประชาชน และลดการเสียชีวิต หากมีรายงานผู้ป่วยที่สงสัยจะป่วยด้วยโรคฉี่หนู ให้ส่งทีมเคลื่อนที่เร็วลงไปสอบสวนเพื่อควบคุมโรคอย่างทันท่วงที ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เชื้อโรคฉี่หนูเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป และเชื้อไชเข้าทางรอยแผล รอยขีดข่วน หรือผ่านผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ ซึ่งผิวจะอ่อนนุ่ม เชื้อชนิดนี้มีชีวิตอยู่ในน้ำได้หลายเดือน โดยทั่วไปมักติดเชื้อขณะเดินย่ำดินโคลน เดินลุยน้ำท่วม หลังติดเชื้อประมาณ 4-11 วัน จะเริ่มมีอาการ โดยจะมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมาก ปวดน่อง หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินลุยน้ำให้ทราบด้วย เนื่องจากโรคนี้มียารักษาหายขาด หากไม่รีบรักษาและปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้นเช่น ไอเป็นเลือด ตัวเหลือง อาจเสียชีวิตจากไตวาย ตับวายได้ การป้องกันโรคฉี่หนู ควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำย่ำโคลน ถ้ามีบาดแผลตามร่างกาย รอยถลอก รอยขีดข่วน ควรงดลงน้ำ หากจำเป็นต้องลุยน้ำต้องสวมรองเท้าบู๊ทเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้น้ำถูกแผล ผู้ที่ต้องทำงานในที่ชื้นแฉะตามไร่นาหลังจากเสร็จภารกิจแล้วให้รีบอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด เช็ดตัวให้แห้ง ในการบริโภคน้ำบ่อควรต้มให้เดือดเพื่อฆ่าเชื้อ ล้างผักผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายๆครั้ง ดูแลบ้านเรือนให้สะอาด กำจัดขยะไม่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ปิดอาหารให้มิดชิดป้องกันไม่ให้หนูปัสสาวะรดอาหาร อาหารที่ค้างคืนให้อุ่นให้เดือดก่อนรับประทาน โดยเฉพาะผู้ที่บริโภคหนู ควรระมัดระวังการติดเชื้อ ให้สวมถุงมือขณะชำแหละและปรุงให้สุก นายแพทย์มานิตกล่าว ****** 27 มิย.53


   
   


View 13    27/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ