ทั้งรัฐเอกชน เพื่อเดินหน้าปกป้องคุ้มครองสุขภาพคนไม่สูบบุหรี่อย่างน้อย 4 ใน 5 ของคนทั้งประเทศ มีบทลงโทษทั้งคนสูบ-เจ้าของสถานที่ที่ฝ่าฝืน และให้หน่วยงานของสธ.ทั่วไทย เป็นตัวอย่างพื้นที่ปลอดบุหรี่ 

วันนี้ (28มิถุนายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่ากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มอบนโยบายกระทรวงสาธารณสุขเป็นเขตปลอดบุหรี่ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 เรื่องการกำหนดสถานที่สาธารณะและที่ทำงานเป็นเขตปลอดบุหรี่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันนี้เป็นวันแรก พร้อมมอบสัญลักษณ์เขตปลอดบุหรี่เพื่อการมุ่งสู่การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์แก่หน่วยงานระดับกรมและหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุขรวม 16 หน่วยงานเช่น สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล องค์การเภสัชกรรม สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ สถานบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นต้น   
 
นายจุรินทร์กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันแรกที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 มีผลบังคับใช้ มีเจตนารมย์สำคัญคือเพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสอง ทั้งในสถานที่สาธารณะ สถานที่ทำงานหน่วยงานภาครัฐหรือเอกชนก็ตาม ปัจจุบันมีคนไทยสูบบุหรี่ประมาณ 13 ล้านคนคิดเป็นประมาณ 1 ใน 5ของคนไทยทั้งประเทศ หมายความว่าประกาศฉบับนี้จะช่วยคุ้มครองสุขภาพประชาชนอย่างน้อย 4 ใน 5 ของประเทศ 
 สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดพื้นที่ไว้ 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือห้ามสูบบุหรี่ ทั้งในและนอกอาคารคือปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย  สถานศึกษา โรงพยาบาล/สถานพยาบาล ศาสนสถาน สนามกีฬา ธนาคาร/สถาบันการเงิน  พื้นที่ประเภทที่ 2 คือห้ามสูบเฉพาะในอาคาร แต่สูบในพื้นที่นอกอาคารได้ เฉพาะพื้นที่ที่จัดให้ เช่น สถานที่ราชการ ปั้มน้ำมัน ปั้มแก๊ส มหาวิทยาลัย สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นไป ประเภทที่ 3 อนุญาตสูบในอาคารได้เฉพาะพื้นที่จัดให้ ซึ่งปัจจุบันมีแห่งเดียวคือสนามบินสุวรรณภูมิ ในพื้นที่ให้บริการระหว่างประเทศเท่านั้น
  
ทั้งนี้ เจ้าของสถานที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย คือ 1.ต้องติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ทางเข้า และภายในสถานที่นั้นที่เห็นได้ชัดเจน  2. จะต้องไม่จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการสูบบุหรี่ไว้ 3.การจัดเขตปลอดบุหรี่นอกอาคารจะต้องไม่อยู่บริเวณทางเข้า-ออก โดยอยู่ในพื้นที่ลับตาและไม่รบกวนผู้อื่น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 นี้ หากใครพบเห็นการกระทำผิด  สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ซึ่งออนไลน์ทั่วประเทศ และที่หมายเลข 1555 ของกทม.
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ตามประกาศฯฉบับนี้ ผู้ที่สูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ขณะเดียวกันเจ้าของสถานที่ที่ไม่ติดสัญลักษณ์เขตปลอดหรือเขตสูบบุหรี่ มีโทษปรับไม่เกิน 2,000บาทเช่นเดียวกัน  สำหรับเจ้าของสถานที่ที่ไม่จัดพื้นที่ปลอดบุหรี่และพื้นที่สูบบุหรี่ โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งจะมีเจ้าพนักงานที่ระบุตามกฎหมายดำเนินการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อไป    
                                                           
                    
นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบเป็นนโยบายว่า กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเจ้าของและผู้ออกประกาศฯ ฉบับนี้ ควรปฏิบัติเป็นตัวอย่างกับสถานที่อื่นๆทั่วประเทศ ได้กำหนดแนวทางให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง ปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด โดย 1.โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งในและนอกอาคาร  2.พื้นที่ทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งตัวอาคารและห้องทำงานต้องปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ 3.พื้นที่ทุกแห่งของกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง จะไม่มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับการสูบบุหรี่ และ4.เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบต้องดำเนินการติดเครื่องหมายเขตปลอดบุหรี่ตามที่กฎหมายระบุ และดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในพื้นที่ห้ามสูบ
 
          และในบ่ายวันนี้ นายจุรินทร์ จะเดินทางไปเปิดการรณรงค์ในโครงการมุ่งสู่การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์..สุขภาพดีถ้วนหน้าไม่พึ่งพาบุหรี่ ร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักศึกษา และภาคีเครือข่ายไมสูบบุหรี่ ที่บริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กทม. ด้วย และติดสติ๊กเกอร์เขตปลอดบุหรี่ที่ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านศูนย์หนังสือ หน้าธนาคารทหารไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ที่จำหน่ายตั๋วบริเวณท่าเรือท่าพระจันทร์ และร้านจำหน่ายอาหารที่บริเวณท่าพระจันทร์
 
          ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 มีความแตกต่างจากประกาศกระทรวงฯ ฉบับที่ 17 พ.ศ. 2549 และฉบับที่ 18 พ.ศ. 2550 โดย 1. ประกาศฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดเขตปลอดบุหรี่และเขตสูบบุหรี่ให้ชัดเจนขึ้น จากเดิมอนุญาตให้จัดสถานที่สูบบุหรี่หรือสูบในห้องส่วนตัวในตัวอาคารบางสถานที่ได้ เช่นที่ทำงานของรัฐ/เอกชน สถานศึกษา ศาสนสถาน โรงพยาบาล สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือสนามกีฬา เปลี่ยนเป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด 2.ในประกาศฯฉบับที่ 17 และ 18 มีสถานที่สาธารณะที่กำหนดเป็นเขตปลอดบุหรี่ แต่สามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่ได้ จำนวน 13 แห่ง ก็ลดลงเหลือ 4 แห่งในประกาศฯฉบับที่ 19 ได้แก่ 1.สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 2.สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ 3.ปั้มน้ำมัน และ4.สนามบินนานาชาติ โดย 3 ที่แรกบังคับในส่วนที่ไม่ใช่อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องปลอดบุหรี่ด้วย แต่อาจจัดให้มีเขตสูบบุหรี่หรือไม่ก็ได้ ส่วนสนามบินนานาชาติสามารถจัดให้มีเขตสูบบุหรี่ทั้งภายในและภายนอกอาคาร
      
    ทั้งนี้ ที่ผ่านมามักพบปัญหาว่าประชาชนมักไม่ทราบว่ามีกฎหมายใหม่ และไม่เข้าใจในสาระหรือบทบัญญัติของกฎหมาย ทำให้การละเมิดหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ทำโครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในวงกว้าง เพื่อให้สถานที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชนปฏิบัติตามกฎหมาย ขณะเดียวกันได้ประชุมและทำหนังสือชี้แจงผู้ประกอบการทั่วประเทศแล้ว
 ****************************** 28 มิถุนายน 2553
 

 



   
   


View 9    28/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ