ปลัดกระทรวงสาธารณสุขสั่งกำชับการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ของสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศให้ดำเนินการอย่างโปร่งใส ตามระเบียบจัดซื้อกรมบัญชีกลาง ตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้รถมีคุณภาพดี มีประสิทธิภาพต่อการใช้งานของเจ้าหน้าที่ ส่วนการจัดซื้อที่จังหวัดบุรีรัมย์พบโปร่งใส ไม่มีการล็อคสเปก
          จากที่มีการเสนอข่าวกระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการจัดซื้อเช่ารถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในราชการ พบสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ดำเนินการประกาศผ่านทางเว็ปไซต์ของบริษัทเอกชนและหนังสือพิมพ์บางฉบับเท่านั้น ไม่ได้มีการประกาศผ่านทางเว็ปไซต์ของกรมบัญชีกลาง ซึ่งส่อเค้าไม่โปร่งใส และไม่เป็นธรรม
          ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้(29 มิถุนายน 2553)นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง และสถานพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างวัสดุครุภัณฑ์ต่างๆ ตามระเบียบพัสดุสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ โดยได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการประจำเขตสาธารณสุขต่างๆกำกับดูแลเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ
          นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ในส่วนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีการจัดซื้อ/เช่ารถจักรยานยนต์ขนาด 110 ซีซี จำนวน 66 คันนั้น เป็นไปตามระเบียบพัสดุ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเปิดให้รับเอกสารวันที่ 14 17 มิถุนายน 2553 และกำหนดยื่นเอกสารเสนอราคาในวันที่ 22 มิถุนายน 2553 โดยผู้ที่ยื่นเอกสารจะต้องมาเสนอราคาในวันที่ 5 กรกฎาคม 2553 ซึ่งได้ลงประกาศในเว็ปไซต์ของกรมบัญชีกลาง  www.gprocurement.go.th
          ด้านนายแพทย์สมพงษ์ จรุงจิตตานุสนธิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า ในการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ จำนวน 66 คันครั้งนี้ ซึ่งได้รับงบประมาณจากโครงการไทยเข็มแข็งจำนวน 2,508,000 บาท โดยคุณสมบัติของรถจักรยานยนต์จะต้องมีขนาดปริมาตรกระบอกสูบไม่ต่ำกว่า 110 ซีซี มีคุณสมบัติตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มีหมวกนิรภัยได้มาตรฐาน มอก. 2 ใบ เป็นรถจักรยานยนต์รุ่นที่ผลิตจำหน่ายในปัจจุบัน และต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาให้บริการในจังหวัดบุรีรัมย์ อย่างน้อย 1 แห่ง พร้อมแนบหนังสือรับรอง ซึ่งผู้เสนอราคาต้องเป็นผู้จำหน่วยโดยตรง
นายแพทย์สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากแจ้งประกาศในเว็ปไซต์มีผู้ขอรับเอกสารเสนอราคาทั้งหมด 3 ราย ได้แก่ บริษัท พี เอส ลิสซิ่ง จำกัด บริษัท บุรีรัมย์ยนตรการ จำกัด และ บริษัท บุรีรัมย์สยามมอเตอร์ จำกัด โดยมีผู้มายื่นเอกสารเสนอราคาในเวลาที่กำหนดตามประกาศคือ 22 มิถุนายน 2553 จำนวน 1 ราย ได้แก่ บริษัท     พี เอส ลิสซิ่ง จำกัด ซึ่งไม่ผิดระเบียบเนื่องจากการจัดซื้อในงบไทยเข้มแข็งจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2553 จึงไม่มีการยกเลิกการจัดซื้อ และขั้นตอนต่อไปจะใช้วิธีการต่อรองราคาซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อต่อรองราคาเรียบร้อยแล้ว
ขอยืนยันว่าการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ครั้งนี้ไม่มีการล็อคสเปกหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการใดๆทั้งสิ้น และคุณลักษณะของรถจักรยานยนต์ที่กำหนดตามประกาศมีผู้จำหน่ายหลายยี่ห้องเข้าเสนอราคาได้ ได้แก่ ยามาฮ่า ซูซูกิ ฮอนด้า เจอาร์ดี ไทเกอร์ แพล็ททินั่ม เป็นต้น กรณีที่ได้กำหนดคุณลักษณะว่าต้องมีศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาให้บริการโดยตรงของรถจักรยานยนต์ที่เสนอในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ อย่างน้อย 1 แห่ง พร้อมหนังสือรับรอง เนื่องจากระหว่างปีงบประมาณ 2549 2550 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดำเนินการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ โดยวิธีการสอบราคาและวิธีประกวดราคาซื้อ ได้ยี่ห้อ เจอาร์ดี ซึ่งในปัจจุบันไม่มีศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาและไม่มีอะไหล่จำหน่ายในท้องตลาด ทำให้รถจักรยานยนต์ที่จัดซื้อในครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถซ่อมแซมบำรุงรักษาได้ บางคันไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ดังนั้นการจัดซื้อครั้งนี้จึงต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของทางราชการและประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่
............................    29 มิถุนายน 2553
 


   
   


View 13    29/06/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ