กระทรวงสาธารณสุข เร่งจัดกิจกรรมสลายรอบพุงคนไทย ผู้ชายไม่ให้เกิน 36 นิ้ว หญิงไม่เกิน 32 นิ้ว      เผยปัญหาอ้วน มีอันตราย เป็นเหตุชักนำเกิดโรคเรื้อรัง ที่สำคัญ 4 โรคต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ปีละกว่า 2 ล้านราย มากที่สุดคือความดันโลหิตสูง ในจำนวนนี้มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ไตวาย อัมพาตปีละกว่า 2 แสนราย ล่าสุดมีคนไทย 15 ปีขึ้นไปอ้วนลงพุงแล้ว 22 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ  

          วันนี้ (2 กรกฎาคม 2553)ที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ จ.สุโขทัย ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดมหกรรมรวมพล พิชิตอ้วน พิชิตพุง มุ่งสู่สุขภาพดี จังหวัดสุโขทัย โดยมี นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ภาคีเครือข่ายคนไทยไร้พุง ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน และสมาชิกเครือข่ายชมรมสร้างสุขภาพของจังหวัดสุโขทัย ร่วมงาน  
          ดร.พรรณสิริกล่าวว่า จากรายงานสถานการณ์เจ็บป่วยของคนไทยในปี 2552พบผู้ป่วยจาก 4โรค คือ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2ล้านราย มากที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูงมีกว่า 1ล้านราย ในจำนวนนี้ พบว่ากว่า  2 แสนราย เกิดโรคแทรกซ้อน ทั้งไตวาย อัมพาต  โรคหัวใจ เนื่องจากดูแลควบคุมตัวเองไม่ดีพอ
สาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดโรคเรื้อรังดังกล่าว มาจากปัญหาอ้วน จากข้อมูลกรมอนามัยปี 2551พบคนไทยอายุ 15ปีขึ้นไปทั่วประเทศพบมีภาวะอ้วนลงพุง 22ล้านคนหรือประมาณ 1ใน 3ของคนทั้งประเทศในจำนวนนี้เป็นหญิง 14ล้านคนและชาย 8ล้านคน ซึ่งภาวะอ้วนลงพุงนี้วัดจากขนาดเส้นรอบเอวผู้ชายต้องไม่เกิน90เซนติเมตรหรือ 36 นิ้ว ส่วนผู้หญิงไม่เกิน 80 เซนติเมตรหรือ 32 นิ้วหากรอบเอวเกินกว่านี้ถือว่าเป็นโรคอ้วนลงพุงซึ่งมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานมากกว่าคนปกติถึง 2 เท่ารอบเอวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 5 เซนติเมตร จะเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน 3-5 เท่า แต่หากสามารถลดน้ำหนักได้ 5เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ก็จะลดเนื้อเยื่อไขมันในช่องท้องได้ 30เปอร์เซ็นต์ สามารถลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานได้ถึง 30เปอร์เซ็นต์ และหากลดน้ำหนักลงได้ 10เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวจะช่วยให้อายุยืนยาวได้อีก 6ปี
          นางพรรณสิริกล่าวอีกว่า ในปี 2553 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามลงนามบันทึกความเข้าใจกับกระทรวงมหาดไทยรณรงค์ให้ทุกจังหวัดเป็นจังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดีซึ่งจัดเป็นปีที่ 2โดยให้ทุกจังหวัด สร้างบุคคล องค์กร และชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบไร้พุงมากขึ้น ใช้หลักปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 3อ. คือ กินอาหารที่มีไขมันน้อย ไม่หวาน ไม่มันและไม่เค็ม เพิ่มการกินผักผลไม้สดให้ได้วันละ 4 ขีด ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งจะช่วยให้มีอารมณ์แจ่มใส ไม่เครียด  
                ทางด้านนายนายแพทย์พูลสิทธิ์ ศีติสาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุโขทัยได้วัดรอบเอวประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปของจังหวัดสุโขทัย จำนวน 112,937 ราย พบภาวะอ้วนลงพุง 31,379 ราย คิดเป็นร้อยละ 28 โดยพบในผู้ชายร้อยละ 20 หญิงร้อยละ 34 ซึ่งจากการติดตามพฤติกรรมเสี่ยงให้เกิดโรคเรื้อรังในกลุ่มประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุดในปี 2552 พบว่าขาดการออกกำลังกายร้อยละ 59 กินอาหารหวาน มัน เค็ม ร้อยละ 32 ดื่มสุราร้อยละ 62 สูบบุหรี่ร้อยละ 17 ซึ่งจะได้เร่งให้สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับ ทุกพื้นที่เร่งรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถึงในระดับหมู่บ้าน และจะประเมินผลในปลายปีนี้  
****************************************    2 กรกฎาคม 2553
 


   
   


View 19    02/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ