เริ่ม 1 กค.-31 ตค.53 ด้านจุรินทร์ ย้ำกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนป้องกันหวัด 2009 แล้ว หลังฉีด 1 เดือนสามารถฉีดวัคซีนตัวใหม่ฟรีเช่นกัน

          เช้าวันนี้ (5 มิถุนายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข ว่า ในวันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการรณรงค์ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่มมารับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิดครอบคลุม 3 สายพันธุ์ ทั้งไข้หวัดใหญ่ 2009 ไข้หวัดใหญ่ชนิดบี และไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 ซึ่งถือว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ได้เตรียมวัคซีนไว้ทั้งหมด 2.1 ล้านโด๊ส โดยจะฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยง 7 กลุ่ม คือ1.หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์เกินกว่า 7 เดือน 2.ประชาชนที่อ้วนน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม 3.ผู้พิการทางสมอง 4. ประชาชนอายุ 6 เดือนขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรัง 10 โรค 5.ผู้สูงอายุเกินกว่า 65 ปีขึ้นไป 6.เด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี และ7.บุคลากรทางสาธารณสุขและผู้มีหน้าที่กำจัดซากสัตว์ปีก เริ่มให้บริการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคมปีนี้
 
          “ขอเชิญชวนผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้ง 7 กลุ่มรับบริการฉีดวัคซีนดังกล่าวได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ ฟรี โดยขณะนี้องค์การเภสัชกรรมได้จัดส่งวัคซีนไปที่โรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ไปแล้ว หลังฉีด 1 เดือนสามารถรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด 3 สายพันธุ์นี้ได้ และมีข้อดีคือจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไข้หวัดใหญ่ 2009 ให้มากขึ้น รวมทั้งยังป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้อีก 2 สายพันธุ์ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงยังมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนที่สามารถป้องกันได้ครอบคลุมให้มากที่สุด”
 
          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่เหลืออยู่ประมาณ 1.5 แสนโด๊ส หากจังหวัดใดต้องการฉีดแก่ประชาชนทั่วไป ให้แจ้งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพื่อประสานกรมควบคุมโรคในการจัดส่งวัคซีนไปให้ต่อไป ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัด 2009 ก็ขอให้มารับการฉีดวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์นี้ โดยองค์การอนามัยโลกเป็นผู้กำหนดว่าในแต่ละปีประชากรโลกควรฉีดวัคซีนตัวใด ซึ่งไทยได้ปฏิบัติตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก
                                     
 
          ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โดยทั่วไป เชื้อไข้หวัดใหญ่จะมีสารพันธุกรรมประมาณ 8 ท่อน และสารพันธุกรรมจะมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี โดยองค์การอนามัยโลกได้ให้ศูนย์ปฏิบัติการอ้างอิงไข้หวัดใหญ่ซึ่งมีกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เก็บเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในประเทศเพื่อตรวจวิเคราะห์แยกสายพันธุ์และส่งรายงานให้องค์การอนามัยโลกเพื่อกำหนดสายพันธุ์วัคซีนป้องกัน ซึ่งจะแตกต่างกันทุกปี ให้แก่บริษัทผู้ผลิตวัคซีนเป็นผู้ผลิต และฉีดให้ประชาชนทั่วโลก ในปีนี้วัคซีนไข้หวัดใหญ่สามารถป้องกัน 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 หรือไข้หวัดใหญ่ 2009 ชนิดเอ เอช 3 เอ็น 2 และชนิดบี กระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ได้ร้อยละ 80 ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย
 
ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 แก่กลุ่มเสี่ยงที่ผ่านมาฉีดได้ 1.5 ล้านกว่าโด๊สหรือร้อยละ 76 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 ล้านโด๊ส มีวัคซีนที่สูญเสียจากการเปิดใช้แล้วฉีดไม่หมดประมาณร้อยละ 10-20 ขณะนี้ยังเหลือวัคซีนอีกเพียง 1.5 แสนโด๊ส ดังนั้นหากจังหวัดหรืออำเภอใดต้องการฉีดวัคซีนดังกล่าวแก่ประชาชนกลุ่มอื่น โดยเฉพาะในกลุ่มที่รวมกันหนาแน่น เช่นโรงงาน โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ ให้ติดต่อขอวัคซีนได้ฟรี ที่สำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค
  
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิดรวม 3 สายพันธุ์ที่จะฉีดในปีนี้มีอายุ 1 ปี ผลิตจากบริษัทร่วมทุนองค์การเภสัชกรรม-เมอริเออร์ชีววัตถุจำกัด ซึ่งนำเข้าจากประเทศฝรั่งเศส บรรจุขวดละ 4 โด๊ส ในการฉีดจึงต้องนัดมาฉีดพร้อมกันเป็นกลุ่มเพื่อลดการสูญเสียวัคซีนที่เหลือค้างขวด โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดซื้อวัคซีน 1.7 ล้านโด๊สสำหรับประชาชนกลุ่มเสี่ยง ส่วนกรมควบคุมโรคจัดซื้ออีก 4 แสนเพื่อฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์และอื่น ๆ ที่เสี่ยงสัมผัสโรค
 
          ทั้งนี้ ในช่วงหลัง ๆ นี้ ข้อมูลสถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ 2009 จากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค พบว่า แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยลดลงเรื่อยๆ ไม่มีผู้เสียชีวิตติดต่อกันหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยในปี 2553 ตั้งแต่ 1 มกราคม - 25 มิถุนายน มีผู้ป่วยยืนยัน 6,679 ราย เสียชีวิต 33 ราย ส่วนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลโดยทั่วไปจะมีรายงานผู้ป่วยปีละ 50,000-100,000 ราย ซึ่งมักเสียชีวิตจากปอดบวม ซึ่งผู้ป่วยปอดบวมจะเสียชีวิตประมาณร้อยละ 2.5 หรือ 1,000-2,000 รายต่อปี ซึ่งหากประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่จะสามารถลดการเสียชีวิต และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการป่วยได้ 948-2,453 ล้านบาทต่อปี
 *************************************** 5 กรกฎาคม 2553

 



   
   


View 20    05/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ