“สธ. – ก.ท่องเที่ยวฯ” เปิดงาน "ท่องเที่ยวสุขภาพดี รวมพล 100 ร้าน มาตรฐานสาธารณสุข ล้านนา R1” ยกระดับเศรษฐกิจสุขภาพเมืองเหนือสู่การท่องเที่ยวสุขภาพระดับโลก
- สำนักสารนิเทศ
- 124 View
- อ่านต่อ
บ่ายวันนี้ (7 กรกฎาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ว่า ในอดีตประเทศไทยเคยมีศักยภาพในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคได้เองหลายโรค เช่นฝีดาษ ไทฟอยด์ วัณโรค อหิวาตกโรค ไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนรวมคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก วัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรคในเด็ก เป็นต้น แต่ในปัจจุบันเราสูญเสียศักยภาพในการผลิต เหลือผลิตได้เพียง 2 ชนิด คือไข้สมองอักเสบ และวัคซีนบีซีจี ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่าควรพัฒนาศักยภาพด้านการผลิตวัคซีนของประเทศไทยกลับคืนมา ซึ่งอย่างน้อยที่สุดผลิตวัคซีนพื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับใช้กับคนไทย 10 ชนิดได้แก่ วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ตับอักเสบบี ไข้สมองอักเสบ วัณโรค โปลิโอ หัด คางทูม หัดเยอรมัน รวมถึงวัคซีนที่มีความจำเป็น เช่น วัคซีนไข้เลือดออก ซึ่งมูลค่าการใช้วัคซีนของประเทศในปัจจุบันปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งประมาณร้อยละ 80 เป็นวัคซีนที่นำเข้า
ปัจจุบันไทยมีองค์กรที่ผลิตวัคซีน 3 หน่วยงาน คือ 1. องค์การเภสัชกรรม 2.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และ3.โครงการร่วมทุนไทย-ฝรั่งเศส ระหว่างองค์การเภสัชกรรมกับบริษัทซาโนฟี่โดยผลิตวัคซีนได้เพียง 2 ชนิด คือวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี และวัคซีนบีซีจีป้องกันวัณโรค จึงต้องขยายผลให้ผลิตให้มากขึ้น
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหานอกจากจะตั้งเป้าหมายผลิตวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนที่จำเป็นแล้ว ในระยะยาวเชิงยุทธศาสตร์ที่ประชุมได้มีมติให้ยกร่างพระราชบัญญัติวัคซีนแห่งชาติขึ้น โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้ยกร่าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ในขณะที่ยังไม่มีพระราชบัญญัตินี้ ให้เสนอเป็นร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขับเคลื่อนนโยบายและแผนยุทธศาสตร์วัคซีนแห่งชาติใช้ก่อนซึ่งขณะนี้ยกร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป ขณะเดียวกันจะเตรียมการจัดตั้งกองทุนเพื่อนำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนด้วย
ทั้งนี้ ขณะที่รอพระราชบัญญัติวัคซีนฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ไปจัดทำแผนพัฒนาวัคซีนทั้งในระยะสั้น 2 ปี และแผนระยะกลาง 5 ปี รวมทั้งจำนวนเงินและแหล่งเงินทุน บางส่วนอาจต้องระดมเงินทุนจากภาคเอกชนให้มามีส่วนร่วมดำเนินการด้วย โดยยึดหลักพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนพื้นฐานและวัคซีนที่จำเป็นสำหรับคนไทยเพื่อทดแทนการนำเข้าก่อน ซึ่งในอนาคตต่างประเทศอาจจะเลิกผลิตเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในภาพรวมระดับโลก แต่ยังจำเป็นในการป้องกันควบคุมโรคของไทยเอง ขณะเดียวกันตั้งเป้าหมายผลิตเพื่อการส่งออกวัคซีนด้วย เช่นผลิตให้ยูนิเซฟ ผลิตส่งออกไปขายตลาดอาเซียนซึ่งต่อไปจะเป็นตลาดเปิด เชื่อว่าไทยมีศักยภาพทางวิชาการและขีดความสามารถในการผลิตเพียงพอ แต่อาจต้องรอรับกลไกการสนับสนุนด้านอื่นๆเพิ่มเติม
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับสาระหลักๆตามพระราชบัญญัติวัคซีนแห่งชาติ จะมีหมวดสำคัญได้แก่ หมวดที่ว่าด้วยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ หมวดว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันวัคซีนแห่งชาติ หมวดที่ว่าด้วยการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนหรือกองทุนวัคซีนแห่งชาติเป็นหลัก