วันนี้(8 กรกฏาคม 2553) ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท จ.ปทุมธานี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการศูนย์การเรียนรู้ ตลาดสดน่าซื้อ รักษ์สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2553 และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณการพัฒนาตลาดสดน่าซื้อ และโรงอาหารในโรงเรียนประถมศึกษาดีเด่นระดับเขต ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดเกณฑ์ตลาดสดน่าซื้อ ไว้ 3 ข้อคือ 1.เรื่องกายภาพคือความสะอาด 2.เรื่องความปลอดภัยอาหาร 3.เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ราคา เครื่องชั่งที่ต้องได้มาตรฐานเป็นต้น แต่สภาพปัญหาปัจจุบันทั่วประเทศมีตลาดสดประมาณร้อยละ 22 หรือ 347 แห่ง ที่ยังไม่ผ่านเกณฑ์ ต้องเร่งพัฒนาให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ที่ระบุไว้ว่าต้องทำให้ได้เกณฑ์มาตรฐานทั้งหมดภายในวันที่ 18 มกราคม 2554 ได้ให้กรมอนามัย เร่งทำความเข้าใจผู้ประกอบการ ให้ปรับปรุง ให้ได้ตามมาตรฐานทั้ง 3 ข้อ ไม่เช่นนั้นก็จะมีโทษตามกฎกระทรวงด้วย เช่น จะต้องหยุดดำเนินกิจการ หรือถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาตเป็นต้น ซึ่งท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการ

          นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ตรวจสอบสิ่งเจือปนในอาหาร ที่ขายทั้งในห้างสรรพสินค้า และตลาดสดทั่วไป ปัญหาที่ยังพบสูงมากมี 4 ตัวต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษได้แก่ 1. เชื้อราในถั่วป่น พริกป่น พบปนเปื้อนร้อยละ 10 ทั้งผู้ผลิตและผู้ให้บริการต้องระมัดระวัง ผู้บริโภคต้องระมัดระวังในการซื้อ โดยถั่วป่น พริกป่นต้องไม่ชื้น สีไม่คล้ำหมอง และไม่จับตัวเป็นก้อน ส่วนเจ้าของตลาดสดต้องตรวจสอบอย่าให้มีถั่วปนพริกป่นที่มีเชื้อรามาจำหน่ายในตลาดสด ซึ่งจะก่อให้เกิดมะเร็งได้
          ที่ตรวจพบอันดับ 2 คือน้ำมันทอดซ้ำ ตามหลักแล้วให้ใช้ซ้ำ ไม่เกิน 2-3 ครั้ง แต่ก็มีอยู่เกือบร้อยละ 5 ที่ยังใช้น้ำมันทอดซ้ำเกินเกณฑ์ที่กำหนด   ตัวที่ 3 คือสารเร่งเนื้อแดงพบในปริมาณสูงร้อยละ 3.1 ซึ่งตลาดที่เป็นตลาดสดน่าซื้อ จะต้องปลอดสารเร่งเนื้อแดง 100 เปอร์เซ็นต์ และตัวที่ 4 คือยาฆ่าแมลง พบร้อยละ 2.67 จะต้องตรวจสอบซ้ำต่อเนื่อง
          นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า อาหารในซุปเปอร์มาร์เกต ศูนย์การค้าต่างๆ ไม่ค่อยมีปัญหา ถือว่าผ่านเกณฑ์ แต่อาหารที่อยู่ในตลาดสดที่อยู่ในพื้นที่กทม. ยังไม่ผ่านเกณฑ์สูง มักเป็นตลาดสดที่กระจายอยู่ในพื้นที่ไกลๆ และยังไม่มีการปรับปรุงมาตรฐาน ในปีที่ผ่านมาพบตกเกณฑ์เกือบร้อยละ 70 จะให้กรมอนามัยจัดประชุมตลาดสดที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและเร่งปรับปรุงให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานตลาดสดทั้งหมด 
          สำหรับเรื่องลูกชิ้นที่ไม่มีฉลากและวางขายทั่วไปในตลาด ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้บังคับให้ติดฉลาก ในส่วนของโรงงงาน หากพบกระทำผิดให้ดำเนินคดีทันที ส่วนผู้ค้าปลีก ถ้าพบว่าแบ่งบรรจุและไม่มีฉลาก ไม่ระบุว่าทำจากวัตถุดิบชนิดใด ใครเป็นผู้ผลิต ครั้งแรกจะเตือนก่อน แต่หากกระทำผิดครั้งที่ 2 จะลงโทษตามกฎหมาย และขอฝากเตือนว่าไม่ว่าเป็นลูกชิ้นชนิดไหน จะต้องมีฉาก โดยจะให้ อย.ตรวจสอบในพื้นที่ กทม. ส่วนในต่างจังหวัดได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้ติดตามตรวจสอบ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคให้บริโภคอาหารที่ปลอดภัย ไม่ใช่การรังแกผู้ค้า นายจุรินทร์กล่าว
 
********************************* 8 กรกฏาคม 2553


   
   


View 11    08/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ