คุ้มครองความปลอดภัยผู้บริโภคจากสารปนเปื้อนอันตราย ผู้ผลิตและนำเข้าต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง คาดมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 เป็นต้นไป
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะอาหารซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุดและมีผลต่อสุขภาพโดยตรง เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัยและสุขภาพดี โดยเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติอาหารพ.ศ.2522 ควบคุมมาตรฐานความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ปรุงรสต่างๆที่ผลิตจากถั่วเหลืองซึ่งประชาชนไทยนิยมใช้กันมากเช่นซอส ซีอิ้วปรุงรส ฉบับใหม่ล่าสุดให้เท่ากับมาตรฐานสากล โดยได้ยกเลิกประกาศฯเดิมที่ว่าด้วยเรื่องเดียวกัน ที่ประกาศใช้เมื่อพ.ศ.2543และพ.ศ.2544
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ตามประกาศฯฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ผลิตจากถั่วเหลืองที่ได้จากกระบวนการหมัก การสกัด ต้องมีคุณภาพหรือมาตรฐาน กล่าวคือต้องไม่มีจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค หรือสารพิษอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องไม่ใช้สี สารปนเปื้อน 4 ชนิดต้องไม่เกินปริมาณที่กำหนดซึ่งเป็นระดับที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ได้แก่1.สาร 3-เอ็มซีพีดี (3-MCPD)หรือสาร 3-คลอโร-1(3-Chloro-1),สาร 2-โพรเพนไดออล (2-propanediol) ไม่เกิน 0.4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมของผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลืองที่มีของแข็งที่เหลือหลังการระเหยน้ำไม่เกินร้อยละ 40 ซึ่งน้อยกว่าประกาศฯเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม มาตรฐานนี้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมาธิการอาหารสากลหรือโคเด็กซ์ (CodexAlimentarius Commission) รวมทั้งประเทศสมาชิกขององค์การค้าโลก(WTO)ด้วย ส่วนอีก 3 ชนิด กำหนดปริมาณปนเปื้อนต่อน้ำหนักผลิตภัณฑ์ 1 กิโลกรัมดังนี้ สารตะกั่วไม่เกิน 1 มิลลิกรัม สารทองแดงไม่เกิน 20 มิลลิกรัม และสารหนูหรืออาเซนิก ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม
นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ต้องมีสารโปรตีนไม่น้อยกว่าร้อยละ 1.5-10 ของน้ำหนัก ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีผลิต มียีสต์หรือราไม่เกิน 10 ต่อผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากกระบวนการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง 1 กรัม โดยประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน คือประมาณเดือนตุลาคม 2553 ผู้ผลิตจำหน่ายในและต่างประเทศหรือผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ปรุงรสจากถั่วเหลืองทุกราย ต้องปฎิบัติให้ถูกต้องตามประกาศฉบับนี้ภายใน 2 ปีหลังจากประกาศฯมีผลใช้บังคับ
ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยากล่าวว่า หลังจากที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งด่านอาหารและยาตามแนวชายแดนให้รับทราบและปฏิบัติควบคุมให้เป็นไปตามมาตรฐานกำหนด และแจ้งให้บริษัทผู้ผลิตผู้นำเข้าทั่วประเทศ รับทราบและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้ตามมาตรฐาน
สำหรับสาร 3-เอ็มซีพีดี เป็นสารปนเปื้อนในอาหาร มีพิษต่อตับ ไต ต่อมไทรอยด์ เยื่อเมือกช่องปาก ลิ้น และอวัยวะสืบพันธุ์ จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่ามีพิษต่อไต ทำให้ปริมาณเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดลดลง และผลศึกษาระยะยาวพบว่าก่อให้เกิดมะเร็ง และก่อการกลายพันธุ์ (mutagen)ในสัตว์ทดลองได้ เป็นสารที่ควรลดให้อยู่ในขนาดต่ำสุด เท่าที่เทคโนโลยีการผลิตจะทำได้
******** 11 กรกฎาคม2553