นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)มีนโยบายเร่งพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉินพ.ศ. 2551 ให้มีความครอบคลุมทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ทุกพื้นที่ ที่เกิดอาการเจ็บป่วยอย่างกะทันหันและจากอุบัติเหตุต่างๆ สามารถรับบริการอย่างทันท่วงที มีคุณภาพ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสรอดชีวิตได้มากขึ้น โดยมีสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติเป็นหน่วยงานหลักในการประสานการดำเนินการจัดบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 นี้ ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินได้มีมติเห็นชอบให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ขอตั้งงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการสนับสนุนการปฏิบัติการของชุดปฏิบัติกู้ชีพทั้งหมด และพัฒนาระบบแพทย์ฉุกเฉินของประเทศให้มีประสิทธิภาพ โดยบริหารจัดการในรูปของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ครอบคลุมคนไทยทุกคนประมาณ 64 ล้านคน ในอัตราเหมาจ่ายรายหัว 15 บาทต่อคน เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2554 ซึ่งจะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไป ได้ลงนามในหนังสือราชการถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด

           นายจุรินทร์กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน ได้รับทราบรายงานเงินงบประมาณรายปีที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้รับการจัดสรรในช่วงปี 2552-2553 ปรากฏว่าไม่เพียงพอกับการปฏิบัติงานที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในแต่ละปี และอัตราตายของผู้ป่วยฉุกเฉินในประเทศไทยยังสูง ปีละประมาณ 60,000 ราย เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างถูกต้องและทันเวลา โดยระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีในปัจจุบันดำเนินการได้เพียงร้อยละ 25 ของจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งหมด 4ล้านครั้งยังเข้าถึงผู้ป่วยไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2552 ได้รับงบ 502 ล้านบาทเศษ ต้องขอชดเชยเพิ่มอีก 82 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2553 ได้รับงบลดลงเหลือ 444 ล้านบาทเศษ และได้เสนอของบกลางเพิ่มอีกประมาณ 133 ล้านบาท แต่ได้รับการจัดสรรเพียง 44.83 ล้านบาท คาดว่าจะไม่เพียงพอ ซึ่งหากมีการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวๆละ 15 บาท ก็จะมีเงินกองทุนปีละประมาณ 960 ล้านบาท ทำให้มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพและเป็นบริการฟรี คาดว่าจะช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ประมาณร้อยละ 15-20 หรือปีละ 9,000-12,000 คน
           ด้านนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า การป่วยฉุกเฉินจากอุบัติเหตุ โรคหัวใจและสมองเฉียบพลัน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในอันดับที่ 2 และ 4 ของการเสียชีวิตทุกสาเหตุ โดยแต่ละปีจะมีผู้ป่วยฉุกเฉินใช้บริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทั่วประเทศปีละ12 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในภาวะวิกฤติและเร่งด่วนประมาณร้อยละ 30 หรือ 4 ล้านครั้ง โดยสถิติการออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในที่เกิดเหตุนอกโรงพยาบาลย้อนหลังตั้งแต่พ.ศ. 2546-2551 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็นเท่าตัว ในปี 2552 ออกปฏิบัติการฉุกเฉิน 1 ล้าน 6 หมื่นกว่าครั้ง ในปี 2553 นี้ คาดว่าปฏิบัติการจะเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้าน 3 แสนกว่าครั้ง และคาดจะเพิ่มเป็น 1 ล้าน 7 แสนกว่าครั้งในปี 2554 จึงต้องมีการจัดงบประมาณที่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพื่อรักษาชีวิตประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยขณะนี้มีทีมกู้ชีพทุกระดับกว่า 90,000 คนมีศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 บริการตลอด 24 ชั่วโมง 79 ศูนย์
 *************************************** 15 กรกฎาคม 2553
 


   
   


View 13    15/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ