สาธารณสุขเร่งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวด้านสุขภาพ ทำโครงการยกระดับมาตรฐาน 5 จังหวัดท่องเที่ยวเขตอันดามัน ให้เป็นเขตปลอดโรคติดต่อ เบื้องต้นเริ่ม 7 โรค พัฒนาสถานพยาบาลได้มาตรฐานสากล ส้วมมาตรฐาน 100 เปอร์เซ็นต์ อาหารอร่อยปลอดภัย หวังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย นักท่องเที่ยวมั่นใจ ใช้งบ 11 ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่มิถุนายน 2553 -2554

ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมราชการในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะยกระดับมาตรฐานการบริการ การเฝ้าระวังโรคและคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพ ในกลุ่ม 5 จังหวัดอันดามันได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ซึ่งมีศักยภาพโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวทางทะเลมีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก   เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย ซึ่งในปี 2549 สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวรวม 1แสนกว่าล้านบาท หรือร้อยละ 20 ของรายได้การท่องเที่ยวรวมทั้งประเทศ และคิดเป็นร้อยละ 83 ของรายได้จากการท่องเที่ยวภาคใต้ ทั้งนี้เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ 2009 ทั่วโลก ในปี 2551- 2552 มาแล้ว
          ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ในการยกระดับมาตรฐานดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2553 ปี 2554 ใช้งบ 11 ล้านบาท จะเน้น 4 ด้านหลักที่เกี่ยวข้องกับความสุขและสุขภาพนักท่องเที่ยว ได้แก่ 1.การพัฒนาสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล ตั้งแต่ระดับเล็กคือสถานีอนามัยจนถึงโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลเฉพาะทาง ทำ 2 เรื่องหลักคือการรักษาพยาบาล โดยโรงพยาบาลที่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยวจะให้มีคลินิกตรวจรักษาโรคระดับสากล ชาวต่างชาติเข้าใช้บริการได้ ส่วนสถานีอนามัยก็สามารถที่จะให้การดูแลนักท่องเที่ยวได้ นอกจากนี้จะจัดบริการรักษาพยาบาลด้วยระบบการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกให้บริการด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีชื่อเสียงด้านการนวดไทยอยู่แล้ว และเรื่องการบริการการแพทย์ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งจะตั้งศูนย์เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ฉุกเฉินในโรงพยาบาลระดับจังหวัดด้วย ซึ่งอาจเป็นที่โรงพยาบาลวิชระภูเก็ต เนื่องจากมีความพร้อมสูง  
          2.การทำให้เป็นเขตปลอดโรคติดต่อทั้ง 5 จังหวัด ในระยะแรกมุ่งเน้นโรคติดต่อที่มีผลกระทบการท่องเที่ยว 7 โรคและควบคุมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้แก่ โรคพิษสุนัขบ้า มาลาเรีย ไข้เลือดออก เลปโตสไปโรซีสหรือฉี่หนู อหิวาตกโรค โรคอาหารเป็นพิษ และโรคลีเจียนแนร์ 3.การยกระดับความปลอดภัยอาหารบริโภค โดยควบคุมความปลอดภัยอาหารให้ปลอดจากสารปนเปื้อนอันตราย อาหารปรุงเสร็จในร้านทุกประเภทรสชาติอร่อยถูกปาก ปลอดภัย โดยสถานที่ผลิตอาหารทุกแห่งจะต้องได้มาตรฐานจีเอ็มพี 100 เปอร์เซนต์ และ 4.การพัฒนาอนามัยสิ่งแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นเมืองน่าอยู่ จะเน้นหนักที่สุขาสาธารณะต้องได้มาตรฐาน 100 เปอร์เซ็นต์ ถือเป็นโชว์รูมของประเทศไทยที่นักท่องเทียวจะได้สัมผัส มีการกำจัดขยะมูลฝอยต่างๆ อย่างเป็นระบบ ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
  
            ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ผลการพัฒนาครั้งนี้ จะมีผลดีต่อชื่อเสียงของประเทศไทย ทั้งเรื่องการท่องเที่ยว และบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน ภาพลักษณ์ประเทศที่สะอาด ปลอดภัย ทำให้มีรายได้มากขึ้นทั้งระดับประเทศ และประชาชน โดยได้ตั้งคณะทำงานดำเนินการแล้ว ตั้งแต่ระดับกระทรวงจนถึงระดับพื้นที่ เชื่อมโยงกัน มีหน่วยงานเกี่ยวข้องมาร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย ขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์คุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการเชื่อมโยงเครือข่ายสื่อสารการคุ้มครองความปลอดภัยด้านสุขภาพกลุ่มจังหวัดอันดามันและการสื่อสารข้อมูลผ่านทางระบบวิดีโอและแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินผลในแต่ละด้าน เมื่อสำเร็จกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นหน่วยงานการันตีแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐาน และประกาศเป็นแหล่งท่องเที่ยวมาตรฐาน เผยแพร่ทั่วโลกต่อไป  
    **************************    25 กรกฎาคม 53


   
   


View 13    25/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ