สาธารณสุขให้โรงพยาบาลในสังกัดเตรียมเซรุ่มแก้พิษงู 7 ชนิด เผยตลอดปี 2552 พบผู้ถูกงูพิษกัด7,603 ราย เกือบร้อยละ 50 พบในฤดูฝน ย้ำเตือนประชาชนหากถูกงูพิษกัด ห้ามใช้ปากดูดพิษงูจากแผล หรือกรีดแผลอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้ได้รับพิษงูมากขึ้น รีบพาไปโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือโทรแจ้ง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าขณะนี้ประเทศไทยมีฝนตกชุก บางแห่งอาจประสบน้ำท่วมขัง ทำให้สัตว์เลื้อยคลานหนีน้ำและอาจจะเข้ามาอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัยได้ โดยเฉพาะงูพิษหากถูกกัด อาจทำให้เสียชีวิตได้ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้สถานบริการโดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปและโรงพยาบาลชุมชน สำรองเซรุ่มแก้พิษงูไว้ให้พร้อมตามชนิดของงูที่พบบ่อยในแต่ละภูมิภาค ซึ่งมี 7 ชนิด ได้แก่ งูเห่า งูจงอาง งูสามเหลี่ยม งูทับสมิงคลา งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด หากถูกงูกัดให้โทรแจ้งขอความช่วยเหลือ 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์งูพิษกัด สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรครายงาน ในปี 2552 ทั่วประเทศพบผู้ที่ถูกงูพิษกัด 7,603 ราย จาก 41 จังหวัด ไม่มีรายงานเสียชีวิต พบมากในกลุ่มอายุ 55-64 ปี ร้อยละ 88 อยู่ในชนบท โดย 2 ใน 3 มีอาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง เกือบร้อยละ 50 ถูกกัดในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ประชาชนทำงานในไร่นา หรือเป็นช่วงที่มีน้ำท่วมขังมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการถูกงูกัดสูง เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลย้อนหลัง 10 ปี พบว่าอัตราการถูกงูพิษกัดและเสียชีวิตมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เมื่อวิเคราะห์รายภาคพบว่าจำนวนผู้ถูกงูพิษกัด อยู่ในภาคเหนือและภาคใต้มากกว่าภาคอื่น จังหวัดที่มีอัตราการถูกงูพิษกัดสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทุกๆ 1 แสนคน ได้แก่ อันดับ 1 ได้แก่ประจวบคีรีขันธ์ รองลงมาคือ สมุทรสงคราม ตรัง ปราจีนบุรี ชัยนาท พิจิตร กระบี่ สิงห์บุรีตราด และเพชรบุรี ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการสังเกตว่างูที่กัดเป็นงูมีพิษหรือไม่นั้น ขอให้ประชาชนดูจากรอยเขี้ยวงู รอยแผลจะมีขนาดเล็กคล้ายถูกเข็มตำ โดยปกติจะมี 2 รอยอยู่คู่กัน อย่างไรก็ตามในบางครั้งอาจจะเห็นเพียงรอยเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าถูกกัดบริเวณปลายมือปลายเท้า หรือบางครั้งอาจเห็นมากกว่า 2 รอย ในกรณีที่ถูกกัดมากกว่า 1 ครั้ง โดยพิษนั้นขึ้นอยู่กับชนิดของงู เช่นงู เห่า งุจงอาง งูสามเหลี่ยม ทับสมิงคลา มีพิษต่อระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง หนังตาตก กลืนลำบาก พูดไม่ชัด และหยุดหายใจ งูแมวเซา งูกะปะ งูเขียวหางไหม้ มีพิษต่อระบบเลือด ทำให้เลือดออกผิดปกติ เช่นมีเลือดซึมออกจากแผลรอยเขี้ยว มีจ้ำเลือดบริเวณแผล มีเลือดออกตามไรฟัน บางรายอาจเกิดปัญหาไตวายได้ หากถูกงูกัดควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อนถึงมือแพทย์ โดยให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาด ไม่ควรใช้เหล้า ยาสีฟัน หรือสิ่งอื่นๆ ทาแผล ให้บีบเลือดบริเวณบาดแผล ออกเท่าที่ทำได้ เพื่อขจัดพิษงูออกจากร่างกาย ไม่ควรใช้ปากดูดเลือดหรือกรีดแผล เนื่องจากจะทำให้พิษงูกระจายเร็วขึ้น และรีบไปโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด โดยพยายามให้อวัยวะที่ถูกกัดอยู่นิ่งไม่เคลื่อนไหว หรือเคลื่อนไหวให้น้อยที่สุด ควรใช้ไม้กระดานหรือกระดาษแข็งๆ รองหรือดามไว้จนกว่าจะถึงโรงพยาบาล อาจนำซากงูไปด้วยถ้าทำได้ แต่ในกรณีที่งูหนีไปแล้วไม่จำเป็นต้องไปไล่ตี เพราะแพทย์สามารถวินิจฉัยชนิดของงูได้โดยไม่ต้องเห็นงู ทั้งนี้การป้องกันไม่ให้ถูกงูกัด ให้หลีกเลี่ยงการเดินในที่แคบหรือบริเวณที่รก มีหญ้าสูง โดยเฉพาะเวลากลางคืน ถ้าจำเป็นต้องเดินผ่านควรใส่รองเท้าหุ้มข้อเท้า ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาว เตรียมไฟฉายและไม้ ถ้าต้องพักแรมในป่าอย่านอนกับพื้น ******26 กรกฎาคม 53



   
   


View 14    26/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ