รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ย้ำทุกจังหวัดเข้มมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ตามกฎหมาย 3 ฉบับ หวังลดนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ ข้อมูลล่าสุดคนไทยก้าวสู่การเป็นนักสูบและนักดื่มหน้าใหม่เร็วขึ้น อายุเฉลี่ยแค่ 16.8 ปี และ 17.2 ปี วางแผนปี 54 ตั้งศูนย์ประสานงานป้องกันควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนรวบรวมข้อมูลข่าวสารให้ทันเหตุการณ์และเป็นสากล สร้างบุคคลต้นแบบที่ผลักดันใช้กฎหมายเหล้าสำเร็จ และเดินหน้าสถานบริการสาธารณสุขทุกแห่งปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ 

วันนี้ (28 กรกฎาคม 2553) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กทม. ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานป้องกันควบคุมโรค และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศประมาณ 400 คน เพื่อสรุปผลการดำเนินงานการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบระดับพื้นที่ ว่า พิษภัยที่เกิดจากการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งรัฐต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาฟื้นฟูเป็นจำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขได้มอบนโยบายให้กรมควบคุมโรคเป็นหน่วยงานหลัก ทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายระดับพื้นที่ ซึ่งมีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคกระจายอยู่ในทุกจังหวัด ให้บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ. ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างจริงจัง

                

                

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า เนื่องจากบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพ และทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงคือ การป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง โดยทั่วโลกมีคนสูบบุหรี่ 1,100 ล้านคน และมีคนดื่มเหล้าประมาณ 2,000 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยได้เร่งแก้ไขทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และการเร่งให้ความรู้ปรับเปลี่ยนค่านิยมของคนไทย เพื่อสกัดนักสูบนักดื่มหน้าใหม่ ผลการสำรวจล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อพ.ศ. 2550 พบคนไทยก้าวสู่วงจรการเป็นนักดื่มนักสูบเร็วขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-24 ปี ที่สูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะนี้ เฉลี่ยเริ่มสูบเมื่ออายุเพียง 16.8 ปี เริ่มดื่มเฉลี่ย 17.2 ปี ในขณะที่กลุ่มนักสูบ นักดื่มที่อายุ 60 ปีขึ้นไป เฉลี่ยเริ่มสูบอายุ 19.3 ปี เริ่มดื่มอายุเฉลี่ย 23.9 ปี

 ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ในปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะตั้งศูนย์ประสานงานควบคุมป้องกันการโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนาเป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข่าวสาร การควบคุมป้องกันการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวมทั้งกฎหมายกับต่างประเทศ และปรับข้อมูลข่าวสารให้ทันสมัย ทันเหตุการณ์และเป็นสากล   และสร้างบุคคลต้นแบบหรือไอดอล (Idol)เป็นบุคคลตัวอย่างที่ผลักดันดำเนินการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเหล้าได้สำเร็จ เพื่อเกิดแรงจูงใจและเป็นขวัญกำลังใจให้ผู้ที่ทุ่มเทเสียสละในการทำงานเพื่อสร้างสังคมไทย เป็นสังคมแห่งการปลอดภัยจากเหล้า ส่วนบุหรี่ตั้งเป้าให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง ตั้งแต่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลทุกระดับ เป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2554 ขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงาน

                  

ด้านนายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2550 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมี 51.2 ล้านคน สูบทั้งบุหรี่และดื่มสุราด้วยร้อยละ 14.7หรือประมาณเกือบ 8 ล้านคน โดยมีผู้สูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน ในจำนวนนี้สูบทุกวัน 9.4 ล้านคน และมีผู้ดื่มสุรา 14.9 ล้านคน โดยกลุ่มวัยทำงานอายุ 25-59 ปี ดื่มร้อยละ 34 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มอื่น ที่น่าห่วงคือ กลุ่มเยาวชนวัยรุ่นมีแนวโน้มการดื่มมากขึ้นพบร้อยละ 22 คือดื่ม 2 ล้านกว่าคน เหตุผลที่ดื่มเหล้าอันดับ 1 คือ เพื่อสังคม/การสังสรรค์ร้อยละ 41 รองลงมาคือ อยากทดลองประมาณร้อยละ 30   ส่วนเหตุผลการสูบบุหรี่ อันดับ 1 คือ อยากลองประมาณร้อยละ 55 รองลงมาคือ เพื่อเข้าสังคมประมาณร้อยละ 26  

นายแพทย์ศิริวัฒน์กล่าวต่อว่า มาตรการสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบที่นำมาใช้ขณะนี้ ได้แก่ ห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ห้ามขายสินค้าหรือให้บริการโดยมีการแจก แถม ให้ผลิตภัณฑ์ยาสูบหรือแลกเปลี่ยนกับผลิตภัณฑ์ยาสูบ ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบโดยแจก แถม ให้ หรือแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นหรือให้บริการอย่างอื่นประกอบ   ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าจะต้องจัดทำภาพและข้อความคำเตือนพร้อมเบอร์โทรเลิกบุหรี่ 1600 ลงบนซองบุหรี่ซิกาแรต ห้ามแจกผลิตภัณฑ์ยาสูบในลักษณะเป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อให้แพร่หลายหรือจูงใจสาธารณชนให้เสพผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น ห้ามโฆษณาสินค้าที่ใช้ชื่อหรือเครื่องหมายผลิตภัณฑ์ยาสูบเป็นเครื่องหมายของสินค้านั้นในลักษณะที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมทั้งห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ไม่แสดงภาพและข้อความคำเตือน

                                                                 

ส่วนมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้ ได้แก่ การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่ผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามดื่มและห้ามขายในสวนสาธารณะและสถานที่ราชการ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดมีพนักงานเจ้าหน้าที่ที่แต่งตั้งตามกฎหมายจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค คอยรับเรื่องร้องเรียน และให้คำปรึกษาข้อกฎหมาย เฝ้าระวังและตรวจเตือน ตรวจจับ ดำเนินคดีกับผู้ละเมิดกฎหมาย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สาระสำคัญของกฎหมาย เพื่อลดจำนวนนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ และลดปริมาณการดื่มการสูบในผู้ที่เสพอยู่แล้ว หากพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายในส่วนกลาง ประชาชนสามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสุราและบุหรี่ โทร 0 2590 3342 โทรสาร 0 2590 3016 และในเรื่องบุหรี่สามารถแจ้งได้ที่สำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ โทร 0 2580 9264 หรือ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โทร 1422 หรือ กทม. โทร 1555 ส่วนต่างจังหวัดแจ้งได้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง

 ************************************ 28 กรกฎาคม 2553
 


   
   


View 13    28/07/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ