สาธารณสุข  ขอความร่วมมือประชาชนไทย ไม่นำ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเข้าไปภายในบริเวณธรรมสถานที่จัดงานบุญทุกแห่ง ตลอดช่วงเทศกาลเข้าพรรษา 3 เดือน เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิตและถวายเป็นพระมหากุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เผยผลการศึกษาล่าสุดพบการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อผลกระทบทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจสูงถึง 156,105ล้านบาทต่อปี มากที่สุดคือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร  

วันนี้ (3 สิงหาคม 2553) ที่ตำบลบ้านติ้ว อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรมรณรงค์ “งดเหล้าเข้าพรรษา” พร้อมมอบวุฒิบัตรประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ที่ร่วมงดเหล้าตลอดชีวิต ชุมชนที่มีกิจกรรมรณรงค์ลด ละ เลิก เหล้า และพิธีเปิดป้ายชุมชนเข้มแข็ง
 ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษานี้ ประชาชนไทยควรสืบสานและยกย่องวัฒนธรรมที่ดีในการงดดื่มเหล้า เพื่อลดปัญหาสุขภาพและลดการสูญเสียอื่นๆจากการดื่มเหล้าที่ทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยตลอดเทศกาลเข้าพรรษา 3เดือนนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอเชิญชวนและขอความร่วมมือจากประชาชน ได้ลด ละ เลิก เหล้า โดยไม่นำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เข้าไปภายในบริเวณธรรมสถานที่จัดงานบุญทุกแห่ง เพื่อความเป็นมงคลแก่ชีวิตและถวายเป็นพระมหากุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
ทั้งนี้จากข้อมูลการศึกษาต้นทุนผลกระทบทางสังคม สุขภาพและเศรษฐกิจของการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทยล่าสุดในปี 2550 พบว่า มีมูลค่าถึง 156,105ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.99ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) หรือเฉลี่ยคนละประมาณ 2,391บาท
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อว่า ต้นทุนที่มีมูลค่าสูงสุด ได้แก่ ต้นทุนจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชาชน เพราะผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยรุ่น วัยแรงงาน รองลงมาคือต้นทุนจากการสูญเสียประสิทธิภาพในการทำงาน ค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายทรัพย์สินที่เกิดจากอุบัติเหตุจราจรทางบก และต้นทุนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย การฟ้องร้องคดีความ ตามลำดับ ซึ่งจะสอดคล้องกับข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในปี 2545-2552 พบว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกมากกว่าช่วงปกติถึง 2  เท่า โดยมีผู้เสียชีวิต 1 คน ทุกๆ 16-25นาที ซึ่งสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ เมาสุราร้อยละ 42   และเมื่อทุกหน่วยงานร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันการดื่มเหล้าในเทศกาลสงกรานต์ ทำให้สาเหตุจากการเมาสุราลดลงเหลือร้อยละ 39 ส่งผลให้จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตลดลงด้วย
ทางด้านนายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเหตุการณ์วัยรุ่นยกพวกตีกันในงานคอนเสิร์ตที่หัวหินในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปว่า สาเหตุมาจากการดื่มเหล้าเบียร์ที่มีการขายและดื่มในบริเวณการจัดงาน กระทรวงสาธารณสุขจึงมีแนวคิดในการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ คือ การห้ามขายและห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ หรือบริเวณที่มีการจัดงานคอนเสิร์ตด้วย ซึ่งสามารถทำได้ด้วยการออกอนุบัญญัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
*** ************************   3 สิงหาคม 2553
 


   
   


View 9    03/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ