สาธารณสุข เปิดตัวโครงการ “หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศด้านสุขภาพ” โดยร่วมกับธนาคารโลกด้านการพัฒนาประเทศ พัฒนาเรื่องเร่งด่วน 3 ด้าน ได้แก่ การคลังสุขภาพที่ยั่งยืน การควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ และการพัฒนาบุคลากรสุขภาพ พร้อมถ่ายทอดประสบการณ์สู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค หลังสิ้นโครงการในปี 2552 วันนี้ (5 กุมภาพันธ์ 2550) เวลา 12.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นนทบุรี นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขไทย ลงนามข้อตกลง โครงการหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศด้านสุขภาพ (Country Development Partnership in Health Sector, CDP-H) ร่วมกับ มร.เอียน พอร์เตอร์ (Mr. Ian Porter) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย โดยมี นายแพทย์ สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษากระทรวงด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข กล่าวต้อนรับและร่วมเป็นเกียรติในพิธี นายแพทย์มานิต กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์สุขภาพของไทยเปลี่ยนแปลงไป ทั้งด้านภาระโรค การคลังสุขภาพ และทรัพยากรบุคคลด้านสาธารณสุข ทำให้เราต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เกิดขึ้น รัฐบาลไทยจึงได้ร่วมมือกับธนาคารโลกด้านการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีประสบการณ์และประสบความสำเร็จมาแล้วจากการร่วมมือกันปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำโครงการหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศด้านสุขภาพ มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2550-2552 โดยรัฐบาลไทยเป็นผู้กำหนดความสำคัญและเป้าหมายเชิงนโยบาย ส่วนธนาคารโลก เป็นผู้สนับสนุน ให้คำปรึกษาทางวิชาการและประสานความช่วยเหลือในด้านเงินทุน ทั้งนี้ จากการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2549 ที่ผ่านมา ได้กำหนดเรื่องที่มีความสำคัญเร่งด่วนต้องพัฒนา 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การปรับปรุงการควบคุมและป้องกันโรคเอดส์ กิจกรรมสำคัญคือ การฟื้นฟูระบบป้องกันการติดเชื้อและลดภาระต่อสังคม และการพัฒนาโครงสร้างที่เหมาะสมและสอดคล้องของระบบจัดการควบคุมโรค มีสำนักโรคเอดส์ กรมควบคุมโรค เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ 2.การสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการค่าใช้จ่ายทางสุขภาพภาคสาธารณะ โดยเฉพาะระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งครอบคลุมประชากรกว่า 40 ล้านคน เพื่อสร้างความยั่งยืนให้แก่การคลังสุขภาพของประเทศ โดยปรับปรุงระบบการจัดการสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพภาคสาธารณะ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม และสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการสุขภาพรายใหญ่ และเป็นผู้นำการประสานระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ รับผิดชอบดำเนินการ 3.การดำเนินการภายใต้กรอบการศึกษาระบบทรัพยากรมนุษย์ด้านสุขภาพในภาคพื้นเอเชียตะวันออก โดยใช้ประเทศไทยเป็นกรณีศึกษาความสำเร็จของนโยบายด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งวิเคราะห์นโยบายยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาสมองไหลของบุคลากรสุขภาพจากภาครัฐสู่เอกชน เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางสำหรับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ประสบปัญหาเดียวกัน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นผู้ประสานงานการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้ง 3 เรื่อง จนกว่าจะเสร็จสิ้นโครงการในปี 2552 ซึ่งผลการเรียนรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการดำเนินโครงการนี้ จะได้รับการถ่ายทอดเพื่อประโยชน์ทั้งของประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย *********************5 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 8    05/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ