กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาระบบความเข้มแข็งการรับมือภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข ตั้งเป้าผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนามใน 10 ปีให้ได้ 200 คน พร้อมหาทางเพิ่มจ่ายค่าตอบแทนระหว่างอบรม เพื่อเป็นแรงจูงใจในให้แพทย์สมัครเข้าอบรมสาขานี้มากขึ้น เผยขณะนี้มีแพทย์ผ่านการอบรมด้านระบาดวิทยาเพียง 151 คน อีกทั้งมีความจำเป็นต้องสร้างทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วกระจายถึงตำบลเพื่อรับมือภัยสุขภาพและโรคระบาดในอนาคต นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านระบาดวิทยา ว่า จากการวิเคราะห์ทบทวนระบบการควบคุมป้องกันโรคติดต่อที่ผ่านมา พบว่าไทยสามารถรับมือและประสบความสำเร็จหลายเรื่องเป็นที่ยอมรับในระดับโลก อาทิ โรคซาร์ส โรคไข้หวัดนก แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันพบว่ามีภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทั้งจากภัยธรรมชาติ และภัยจากโรคติดต่อที่เกิดขึ้นใหม่ จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือโรคระบาดต่างๆและภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ทั้งระบบการบริหารจัดการ และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีแพทย์และสัตวแพทย์ผ่านการอบรมในสาขาระบาดวิทยาซึ่งเป็นระดับผู้เชี่ยวชาญ 151 คน กระจายใน 41 จังหวัด ประกอบด้วยแพทย์ 143 คน สัตวแพทย์ 8 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านระบาดวิทยา ตั้งเป้าภายในปี 2563 จะผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาภาคสนาม 200 คน และพัฒนาทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่มีประสิทธิภาพสูงจำนวน 1,030 ทีม และจำเป็นต้องขยายให้ครอบคลุมถึงระดับตำบล อย่างไรก็ตามในระยะ 2-3 ปีมานี้ มีแพทย์สมัครเข้าอบรมสาขาระบาดวิทยามีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ จากโควต้าที่แพทย์สภาจัดอบรมปีละ 10 คน ปรากฏว่าในปี 2553 มีแพทย์สมัครเพียง 8 คน ประกอบด้วยแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข 7 คน และกทม. 1 คน สาเหตุที่แพทย์สมัครเข้าอบรมสาขาระบาดวิทยาน้อย ทั้งๆที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นต่อประเทศมาก เนื่องจากเป็นสาขาที่ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่น รวมทั้งความก้าวหน้าในสายวิชาชีพไม่ชัดเจน ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ประชุมได้มีมติให้มีการจ่ายค่าตอบแทนให้กับแพทย์ระหว่างรับการฝึกอบรมด้วย เพื่อเป็นแรงจูงใจให้แพทย์สมัครเข้ารับการอบรมเพิ่มมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาจัดเตรียมทำหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขการจ่ายค่าตอบแทนให้กับแพทย์ประจำบ้านด้วยเงินงบประมาณ ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เห็นชอบให้สำนักระบาดวิทยาใช้เงินสนับสนุนจากโครงการต่างประเทศ จ่ายเป็นการชั่วคราวไปก่อน นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าว ด้านนายแพทย์ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า นอกจากไทยจะสร้างระบบความเข้มแข็งการควบคุมป้องกันโรคระบาดในประเทศแล้ว สำนักระบาดวิทยาไทยยังเป็นศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก จัดหลักสูตรระบาดวิทยานานาชาติ ฝึกอบรมนักระบาดวิทยาภาคสนามให้ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน ลาว กัมพูชา เมียนม่าร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เริ่มตั้งแต่พ.ศ. 2544 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีแพทย์ผ่านการฝึกอบรมแล้ว 33 คน เป็นการสร้างเครือข่ายระบาดวิทยานานาชาติที่เข้มแข็งในภูมิภาคด้วย สำหรับในปี 2553 นี้ รับแพทย์ชาวต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียเข้าเรียนในโครงการ 3 คน ประกอบด้วย จีน 2 คน และภูฏาน 1 คน ในอนาคตอาจจะส่งแพทย์ไทยไปอบรมแลกเปลี่ยนด้านระบาดวิทยาในประเทศแถบเอเชีย เพื่อเป็นสร้างเครือข่ายร่วมมือกันต่อไป **************************** 8 สิงหาคม 2553


   
   


View 9    08/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ