วันนี้ (9 สิงหาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าร่าง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.... กรณีที่เครือข่ายคุ้มครองประชาชนด้านสาธารณสุขหรือ คปส. กล่าวว่าควรมีสมัชชาเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ และจะเสนอเรื่องนี้ต่อนายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ทราบรายละเอียดว่าสมัชชาจะเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดนี้หากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมาย แต่ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขขณะนี้ มีแนวทางชัดเจน คือปลัดกระทรวงสาธารณสุขกำลังประสานงานกับทุกฝ่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เพื่อส่งตัวแทนที่เป็นทางการเข้าร่วมหารือหาแนวทางที่จะให้ได้ข้อสรุปในรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ร่วมกัน

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่นแพทย์จากนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ จากกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลตำรวจ กทม. โรงเรียนแพทย์ สถานพยาบาลเอกชน สภากาชาดไทย สภาวิชาชีพทั้ง 6 วิชาชีพ แพทยสมาคม สมาคมแพทย์อื่นๆ สมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป ตลอดจนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ มูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านตะวันตก และองค์กรอื่นๆที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่สนใจจะร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีทำหน้าที่อำนวยการให้เกิดการหารือขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาไม่นานนักในการประสานงาน เมื่อได้ผู้แทนที่เป็นทางการแล้วจะจัดให้มีการหารือต่อไปโดยเร็วเพื่อหาข้อสรุป เป็นการเชิญทุกภาคส่วน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ที่สนใจมาหารือหาข้อสรุปร่วมกัน ทั้งนี้ผู้ที่สนใจจะร่วมหารือสามารถประสานมาที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ โทร. 0 -2590 -1331
นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า สำหรับคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุข ขณะนี้ยังไม่ได้ยกเลิก และทราบจากปลัดกระทรวงสาธารณสุขว่ายังไม่มีฝ่ายใดถอนชื่อออกจากคณะกรรมการ มีบางองค์กรที่ขอหารือเพื่อให้ได้ผู้แทนที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ แต่หากตัวแทนของหน่วยงาน/องค์กรต่างๆที่มาร่วมหารือมีความเห็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขก็พร้อมที่จะดำเนินการตามนั้น เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปในที่สุด ทั้งนี้ต้องรอผลการประชุมหารือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อน และเมื่อได้ข้อสรุปตรงกันว่ามีความจำเป็นต้องแก้ไขในส่วนไหน อย่างไร วิธีการปฏิบัติต่อไปไม่ใช่เรื่องยาก จะเป็นการประสานงานกับรัฐสภาเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของทุกฝ่ายที่มีความเห็นให้ปรับปรุงแก้ไข สำคัญที่สุดคือให้ได้ข้อสรุปก่อนว่าประสงค์จะให้แก้ไขในประเด็นใด และเห็นสอดคล้องกันแล้วหรือไม่ จะไม่มีการขีดเส้นกำหนดระยะเวลาดำเนินการ แต่จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา แพทยสภา สมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มีความไม่สบายใจเรื่องคณะกรรมการเสริมสร้างความสมานฉันท์ในระบบบริการสาธารณสุขจึงขอไม่ร่วมประชุม โดยทำหนังสือส่งมาและไม่ได้แจ้งว่าขอถอนตัวจากคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไปจะเข้าร่วมหรือไม่นั้น เมื่อยังไม่ได้ถอนตัวก็จะประสานเป็นการภายในไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมประชุมต่อไป
******************** 9 สิงหาคม 2553
 


   
   


View 13    09/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ