วันนี้ (9 สิงหาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พล.ต.ต.จตุรงค์ ภุมรินทร์ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (ผบก.ปคบ.) แถลงข่าว ผลการจับกุมโรงงานผลิตน้ำปลาปลอมที่จ.สมุทรสงครามและนครสวรรค์

นายจุรินทร์กล่าวว่า เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา ได้แถลงข่าวจับกุมน้ำปลาปลอมที่จ.สิงห์บุรี ซึ่งผลิตจากโรงงานน้ำปลาบุญเทือง ได้มีการอายัดเครื่องจักรและของกลางไว้เป็นจำนวนมาก ขณะนี้ผลการตรวจสอบออกมาชัดเจนว่าเป็นน้ำปลาปลอม ผิดมาตรฐาน โดยมีสารไนโตเจนร้อยละ 0.79 กรัมต่อลิตร ซึ่งตามมาตรฐานต้องมีไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร แสดงให้เห็นว่าไม่มีคุณค่าทางอาหาร นอกจากนี้ยังพบวัตถุกันเสียเกินมาตรฐาน พบถึง 3,400-4,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามมาตรฐานต้องมีไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ต้องมีการดำเนินคดีต่อไปโทษมีทั้งจำคุกตั้งแต่ 6เดือน-10ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า หลังจากมีการจับกุมโรงงานงานน้ำปลาที่จ.สิงห์บุรีแล้ว มีพลเมืองดีแจ้งเบาะแสมาที่กระทรวงสาธารณสุข ว่ายังมีขบวนการที่อาจจะมีความเกี่ยวเนื่องกันดำเนินการผลิตน้ำปลาลักษณะนี้อยู่ในจังหวัดอื่นอีก กระทรวงสาธารณสุขได้ไปตรวจสอบ พบที่จังหวัดนครสวรรค์ โดย อย. ผบก.ปคบ. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์ ได้เข้าไปดำเนินการในวันที่6 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา พบน้ำปลาปลอม 2 ยี่ห้อ คือน้ำปลาผสมตราปลาทับทิม และน้ำปลาผสมตราปลาไส้ตันชุมพร ซึ่งผลการตรวจสอบเบื้องต้นของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์พบว่ามีสารอาหารต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนั้น ตรวจพบน้ำปลาที่อ้างว่าเป็นน้ำปลาแท้ ตราปลาไส้ตันชมจันทร์ และน้ำเกลือปรุงรสตราดอกบัวคู่ ซึ่งต้องตรวจสอบต่อไป
ส่วนที่จังหวัดสมุทรสงคราม ตรวจพบน้ำปลาผสมตรากุ้งวิจิตร กับน้ำส้มสายชูเทียมตราฮ่องเต้ ซึ่งเข้าข่ายอาหารปลอม ที่สำคัญไม่ได้รับอนุญาตให้ผลิต ทั้งหมดนี้ต้องได้รับการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ประชาชนผู้บริโภค และที่สำคัญได้รับความร่วมมือดีมากจากพลเมืองดีและประชาชนที่ช่วยแจ้งเบาะแส เมื่อเห็นว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกระทรวงสาธารณสุขเอาจริงกับเรื่องนี้ ช่วยให้เบาะแสมากขึ้น โดยกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายจะให้รางวัลนำจับโดยไม่ต้องรอให้ขึ้นศาล แค่ตรวจสอบพบว่าใช่อย่างที่แจ้งมาก็จะให้รางวัลทันที
ทางด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กรณีที่จังหวัดสมุทรสงคราม จำเป็นต้องเร่งแถลงให้ประชาชนทราบโดยเร็ว เพราะน้ำปลาผสมตรากุ้งวิจิตร กับนำส้มสายชูเทียมตราฮ่องเต้   ไม่ได้รับการขออนุญาตหรือขึ้นทะเบียน  แม้ว่าจะยังไม่ได้ตรวจสอบว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ ขณะนี้อยู่
ระหว่างรอผลการตรวจสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ต้องให้ประชาชนทั่วไปรับทราบและงดบริโภคตราดังกล่าว ร้านค้าที่จำหน่ายน้ำปลาและน้ำส้มสายชูเทียมยี่ห้อนี้ ต้องเก็บลงจากแผงจำหน่ายทันที เพราะมีแนวโน้มจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะน้ำส้มสายชู ต้องงดบริโภคและจำหน่ายทันที เพราะหากทำจากสารเคมีจำพวกกรดซัลฟูริกผสม จะกัดเนื้อเยื่อในกระเพาะอาหาร เป็นแผลในกระเพาะอาหารได้
ส่วนกรณีน้ำปลาที่จ.นครสวรรค์ ตกมาตรฐานเข้าข่ายน้ำปลาปลอม ฉลากไม่ถูกต้อง โดยน้ำปลาตราชมจันทร์และตราดอกบัวคู่อยู่ระหว่างนำส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบในวันนี้ ผลจะแจ้งให้ทราบต่อไป ในหลักการแล้วผู้บริโภคต้องงดบริโภคทันที ฝากเตือนผู้ผลิตว่าการผลิตต้องมีมาตรฐาน ขออนุญาตถูกต้อง และกระบวนการผลิตต้องได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นปริมาณโปรตีนหรือสารกันบูด กระทรวงสาธารณสุขจะออกตรวจตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ถ้าพบเข้าข่ายอาหารปลอมจะร่วมกับผบก.ปคบ.จับกุมทันที 
********************************* 9 สิงหาคม 2553
 


   
   


View 11    09/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ