ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ รับนโยบายตามมติ ครม. เร่งให้ทุกฝ่ายจัดทำแผนปฏิบัติงาน และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง และให้หน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมพิจารณาร่างกำหนดการพิมพ์ฉลากคำเตือนเหล้าที่ผลิตและนำเข้าด้วย 

พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ   ครั้งที่ 1/2553 ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ มอบหมายให้ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมในฐานะรองประธานกรรมการฯ และนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขานุการ เพื่อให้คณะกรรมการ รับทราบยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2553 และตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประชุมเมื่อปลายปี 2552
พลตรีสนั่นกล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการ 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด ดำเนินการ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. จัดทำแผนปฏิบัติการทุกระดับที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ฯระดับชาติ 2. สนับสนุนการดำเนินงานและเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม ในการจัดการกับปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และติดตามผลตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ รวมถึงการพัฒนาแผนปฏิบัติการร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคมและภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง
 3.ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หรือจัดสรรงบประมาณจากภาษีสรรพสามิตสุรา เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ สนับสนุนกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสนับสนุนการรณรงค์เพื่อขจัดความรุนแรงในครอบครัว และใช้ในมาตรการเยียวยาผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว อันเป็นผลมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาสังคม 4.ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสรรพสามิต ผู้ว่าราชการจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อเนื่อง และ5. ให้เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รายงานยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติต่อสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 4 ซึ่งจะมีการประชุมอีก 2 ปีข้างหน้า
พลตรีสนั่น กล่าวต่อไปว่า สำหรับการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผน ควรมีการทำประชาพิจารณ์ ฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนโดยเฉพาะตัวแทนองค์กรนักศึกษา ชมรมอธิการบดี ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ 1. การกำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  2.การ
 
 
กำหนดวิธีการหรือลักษณะในการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3.การกำหนดสถานที่หรือบริเวณที่ห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ4.ประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์ ฉลาก พร้อมทั้งข้อความคำเตือนสำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ผลิตหรือนำเข้า ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กฤษฎีกา อัยการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และภาคเอกชน เช่น สมาคมโรงแรม สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า เข้ามาเป็นคณะอนุกรรมการด้วย
ทางด้านดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ทำงานภายใต้กรอบคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ตามข้อตกลงที่ได้ทำความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ลงทำงานในพื้นที่ทุกภาค โดยเฉพาะความร่วมมือกับสถานีตำรวจ 88 แห่ง กระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเร่งดำเนินการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาสังคม ควรเพิ่ม สภาสตรีแห่งชาติ ให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯในการจัดทำแผน เพื่อลดข้อขัดแย้งและความสับสนที่อาจเกิดขึ้น   ซึ่งจะทำให้นโยบายด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยบรรลุผลต่อไป
  *****************************     10  สิงหาคม 2553


   
   


View 9    10/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ